สรุปประเด็นแถลงข่าว ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 ​ V6​

0
617

การค้าโลกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสเผชิญภาวะถดถอยชัดเจนมากขึ้น โดยองค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าในปี 2566 การค้าโลกจะเติบโตได้ในระดับต่ำแค่ 1% จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ เนื่องจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงยาวนานและธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินเข้มงวด รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อตลาดพลังงานอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับประมาณการล่าสุดของ IMF ที่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของหลายประเทศ อีกทั้งโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐและ Euro Zone ที่มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

• ตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นไปทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวลงเช่นกัน เศรษฐกิจไทยจะเผชิญต้นทุนต่างๆ ทั้ง ค่าไฟ ค่าแรง และสินค้านำเข้า ที่แพงขึ้น ในขณะเดียวกันนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจเริ่มมีการลดบทบาทออกไปเพื่อปรับนโยบายสู่สมดุล (Policy Normalization) ทั้งนโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ซึ่งการถอนการสนับสนุนเศรษฐกิจหลายมาตรการพร้อมๆ กัน เสี่ยงที่จะส่งผลกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่ทางการประเมินไว้เดิมได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง

• ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากกว่าคาด ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศทยอยฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกันยายนอยู่ที่ 1.3 ล้านคน ทั้งปีน่าจะใกล้เคียง 10 ล้านคน จึงมีส่วนช่วยให้การจ้างงานของเอกชน และอุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น

• มาตรการช่วยเหลือเพื่อประคับประคองกลุ่มเปราะบางของ ธพ. ยังคงมีความจำเป็น เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงหลายด้าน เพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ และผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สามารถประคองตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้ โดยคำนึงถึงการส่งเสริมการออมเงินของประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าลดภาระทางการเงิน และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะพิจารณาและเสนอแนวทางการช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

• ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบจากน้ำท่วมที่อยู่ในวงจำกัด ในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และทบทวนการถอนนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบ 7.0% ถึง 8.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 6.0% ถึง 6.5%

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ของ กกร.
%YoY
ปี 2565
(ณ ก.ย. 65)
ปี 2565
(ณ ต.ค. 65)
ปี 2565
(ณ พ.ย. 65)
GDP
2.75 ถึง 3.5
3.0 ถึง 3.5
3.0 ถึง 3.5
ส่งออก
6.0 ถึง 8.0
7.0 ถึง 8.0
7.0 ถึง 8.0
เงินเฟ้อ
5.5 ถึง 7.0
6.0 ถึง 6.5
6.0 ถึง 6.5

• ทั้งนี้ กกร. มีความเป็นห่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า เนื่องจากประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ในปีหน้าได้ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงหลายด้านและมีการทยอยลดบทบาทนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจเพื่อให้เข้าสู่จุดสมดุลหรือ Policy Normalization อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งน้อยกว่าที่คาดไว้ และกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนการแพร่ระบาดล่าช้าออกไป การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับขึ้นเงินนำส่งเข้า FIDF เข้าสู่ภาวะปกติจากอัตรา 0.23% เป็น 0.46% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระบบ และการยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV ซึ่งการทยอยลดบทบาทหลายมาตรการพร้อมๆ กัน เสี่ยงที่จะเป็นการกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME และครัวเรือนที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว

• ในปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยจะเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางของระบบการเงินสำหรับภาคธุรกิจ หรือ PromptBiz บนมาตรฐานการรับส่งข้อมูล ISO 20002 ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อการนำส่งภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Invoice โดยจะมีการเชื่อมต่อกับการพัฒนา Digital Supply chain Finance Platform (DSCF) และ National Digital Trade Platform (NDTP) ที่กกร.ร่วมขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจ

• นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือประเด็น การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ซึ่งระบุอัตราภาษีสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2565 โดยกำหนดใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ไม่ได้ปรับลดลงร้อยละ 90 แต่มีผลเป็นเพียงการลดอัตราการจัดเก็บในระดับชั้นเดียว คือ ลดจากอัตราเพดานตามมาตรา 37 ลงมา แต่ยังไม่ได้ลดลงอีกร้อยละ 90 ตามมาตรา 55 ซึ่งจะทำให้ราคาประเมินใหม่รอบปี 2566-2569 ทั้งประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8% ที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะครบกำหนด 3 ปีที่ต้องเพิ่มอัตราเก็บภาษีอีก 0.3% และ กทม. จ่อปรับอัตราเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมเต็มเพดาน 0.15% หรือเก็บเพิ่ม 15 เท่า ซึ่ง กกร. จะมีข้อเสนอถึงคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาใน 4 ประเด็น ดังนี้
​1. ขอให้พิจารณาแก้ไขอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จที่ยังไม่ได้ขาย จากประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย
​2. พิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในบริการสาธารณะและสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรรฯ และอาคารชุดที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันจะไม่ได้รับการยกเว้น จึงขอเสนอพิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จากประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย
​3. พิจารณาปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อไปอีก 2 ปี (ปี 2566 และ ปี 2567) โดยเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได ทั้งนี้ ในปี 2566 ขอลดหย่อน 75% และปีต่อไป 50% ตามลำดับ
​4. พิจารณายกเว้น เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และดอกเบี้ยสำหรับผู้ค้างชำระในปี 2565 โดยให้ผ่อนชำระในปี 2566

• ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างแต้มต่อให้กับประเทศ
ต่าง ๆ ในการแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญวิกฤตถดถอยในขณะนี้ โดย กกร. เห็นว่าประเทศไทยควรเร่งรัดการเจรจา FTA ให้มากขึ้น รวมถึง ต้องมีการปลดล็อคปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินต่อได้ รวมทั้งประเทศไทยต้องปรับตัวเองเพื่อเข้าสู่มาตรฐานใหม่ของการทำ FTA ในอนาคตด้วย เพราะหากไม่แก้ปัญหาต่าง ๆ นี้แล้ว การทำ FTA ต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก และประเทศไทยจะเสียผลประโยชน์อย่างมาก

• ภาคเอกชนพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 13 – 16 พฤศจิกายน 2565 และเจ้าภาพการจัดงาน APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 ณ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล กรุงเทพฯ การประชุมในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคสังคม และประชาชนคนไทย ภายใต้แนวคิด Embrace. Engage. Enable. เพื่อเปิดรับโอกาส สอดประสานความเชื่อมโยง และร่วมกันสร้างความเป็นไปได้ โดยมีความพร้อมแล้วในทุกด้าน ไม่ว่าด้านสถานที่จัดการประชุม การดูแลต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม การรักษาความปลอดภัย และการจัดงานเลี้ยงรับรอง การประชุมประกอบด้วยประเด็นที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสังคม ในขณะนี้ได้รับการยืนยันการเข้าร่วมงานจากผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำองค์กรโลกที่สำคัญ ผู้นำทางความคิด และซีอีโอระดับแนวหน้าจากทุกเขตเศรษฐกิจในการเข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟัง แลกเปลี่ยนทัศนะที่สามารถร่วมบูรณาการได้ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค