ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมกับ ๓๐ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง จัดงาน “มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ” จัดขึ้นครั้งแรกในเมืองไทย ชูแนวคิด “๕ สายน้ำวัฒนธรรม แห่งลุ่มแม่น้ำภาคกลาง”

0
1616

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จับมือเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง เตรียมจัดงาน “มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ” ภายใต้แนวคิด “๕ สายน้ำวัฒนธรรม แห่งลุ่มแม่น้ำภาคกลาง” หวังเป็นแหล่งศึกษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาพื้นถิ่น พร้อมส่งเสริมพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นภาคกลาง ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน พบกับการนิทรรศการมีชีวิตของ ๕ ลุ่มแม่น้ำ การเสวนา การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้านแต่ละท้องถิ่น เวิร์กชอป และการจำหน่ายสินค้าชุมชน (ท้องถิ่น) จัดขึ้น ๒๐-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นี้ วัดขนอนหนังใหญ่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร เป็นองค์กรหลักด้านการจัดการข้อมูลความรู้ด้านมานุษยวิทยาเพื่อสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่มีคุณภาพ และบูรณาการเครือข่ายมนุษยวิทยา ซึ่งในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ยังได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนา “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ทั้งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและเสริมพลังเครือข่าย รวมถึงสนับสนุนกลไกการมีส่วนร่วมของเครือข่ายที่เอื้อให้เกิดการหนุนเสริมและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้“เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” สามารถพัฒนาศักยภาพตนเอง และเกิดความเข้มแข็งยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เปิดพื้นที่ให้คนทำพิพิธภัณฑ์มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้วยรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การทำฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ งานอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ งานประชุมเชิงวิชาการ และงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นต้น
“และในปีนี้ ทางศูนย์มานุษยฯ ยังได้ร่วมกับ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคกลาง ๓๐ แห่ง จัดงาน “มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่ในการนำเสนอเอกลักษณ์ ชาติพันธุ์และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นภาคกลาง ผ่านพิพิธภัณฑ์ในภาคกลางที่สะสมความรู้ และมรดกวัฒนธรรมด้านต่างๆ เพื่อสะท้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมา และขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นในภาคกลางที่มีความหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงไปในยุคสมัยต่าง ๆ เพื่อให้ลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไป ได้เรียนรู้สัมผัสภูมิปัญญาท้องถิ่น และความเป็นตัวตนของชุมชนที่

เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง
พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีจะนำมาสู่ความเข้าใจ ตระหนักและหวงแหนในคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของตนเอง โดยผ่านรูปแบบ นิทรรศการ กิจกรรมการสาธิต และการแสดงศิลปวัฒนธรรม ที่หลากหลาย ซึ่งมีกำหนดจัดงานดังกล่าวขึ้น ระหว่าง ๒๐-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นี้ ณ วัดขนอนหนังใหญ่ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี”

ด้าน พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ในฐานะประธานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง กล่าวว่า หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์เรียนรู้ในเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางแต่ละแห่งแล้ว จะพบได้ว่าทุกแห่งล้วนแต่มีจุดเริ่มต้นมาจากจิตวิญญาณที่รัก และภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งการจัดงานมหกรรมมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง “วิถี วัฒนธรรมแห่ง สายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ” ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการจัดงานครั้งแรกของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง ที่ได้รวมตัวกันจนเป็น “เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง” เริ่มจากหนึ่งและสองจนขยายเป็นทั้งหมด ๓๐ แห่งทั้งภาคกลาง ๑๔ จังหวัด แบ่งเป็น ๕ ลุ่มน้ำ มีดังนี้

แม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย ๑.พิพิธภัณฑ์จันเสน ๒.พิพิธภัณฑ์เรือไทย ๓.พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร ๔.บ้านหัตถกรรม ศิลป์สร้างสุข ๕.พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านกวานอาม่าน ๖.พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านขุนสมุทรจีน​ แม่น้ำป่าสัก – ลพบุรี ประกอบด้วย ๑.พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดฝั่งคลอง ๒.ศูนย์เฉลิมราชย์ บ้านดงกระทงยาม ๓.พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย ๔.พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านหลุมข้าว​ แม่น้ำแม่กลอง ประกอบด้วย ๑. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองขาว ๒. พิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ๓.พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม ๔.จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว ๕.พิพิธภัณฑ์ตั้งเซี่ยมฮะ ๖.เบญจมราชูทิศ พิพิธภัณฑ์ ๗. พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน​  แม่น้ำท่าจีน ประกอบด้วย ๑. ศูนย์ฟื้นฟูไตดำโบราณ ๒.บ้านเก่าเล่าเรื่อง ตลาดบางหลวง ๓.พิพิธภัณฑ์ชาวนาไทยบ้านลานแหลม ๔.พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง ๕. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนคลองผีเสื้อ ๖.พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด ๗. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดห้วยตะโก แม่น้ำเพชรบุรี ประกอบด้วย ๑.ศูนย์เรียนรู้กลุ่มสไบมอญ (บางลำพู) ๒.บ้านชะอาน ๓.พิพิธภัณฑ์ปานถนอม ๔.สมบัติลุ่มน้ำเพชร และ ๕.ศูนย์เรียนรู้เพื่อนศิลป์ ดินไอเดีย

“นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ภายใต้นโยบายของศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) ที่มุ่งมั่นส่งเสริมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นต่างๆ ของไทยให้มีความเข็มแข็งและเติบโตขึ้น และในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเราผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์เรียนรู้ต่างๆ จากทุกสารทิศในกลุ่มเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางได้รวมตัวกันขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดเวทีครั้งสำคัญที่จะทำให้เราได้มีโอกาสพบปะเยี่ยมเยือน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้กัน ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างระหว่างกันของพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นแต่ละแห่ง แต่เรากลับพบว่ามีอัตลักษณ์ร่วมสำคัญที่เชื่อมโยงกันอยู่ ๓ ประการ คือ วัฒนธรรมทวารวดี ชาติพันธุ์ และ วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำภาคกลาง โดยได้สะท้อนอยู่ในทุกๆ วิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ภาคกลางนั่นเอง” พระครูพิทักษ์ศิลปาคม กล่าว

อย่างไรก็ตาม งานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง “วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ” ได้กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ณ วัดขนอนหนังใหญ่ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยภายในงานจะเป็นการเปิดพื้นที่สื่อกลางนำเสนอเอกลักษณ์ ชาติพันธุ์และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น จากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคกลางท้องถิ่น ๓๐ แห่ง ๑๔ จังหวัด พบกับการจัดกิจกรรมและไฮไลท์สำคัญที่น่าสนใจ เช่น การจัดแสดงนิทรรศการมีชีวิตของ ๕ ลุ่มแม่น้ำภาคกลาง การเสวนาทางวัฒนธรรมและวิชาการ การสาธิต และการแสดงทางวัฒนธรรมของชุมชนแต่ละท้องถิ่น รวมถึงกิจกรรม Work Shop และการจำหน่ายสินค้าชุมชน (ท้องถิ่น) ตลอดระยะเวลา ๓ วันของการจัดงาน สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุริสา อาศุศิริ โทร.๐๙๒ ๖๐๕ ๖๔๔๕ หรือติดตามได้ที่ Facebook:เพจมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง