ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.98 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์

0
877

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมจะออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม ที่พลิกกลับมาขยายตัว +0.3%m/m (จากที่หดตัว -0.4% ในเดือนกรกฎาคม) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 213,000 ราย ทว่าผู้เล่นในตลาดกลับตอบรับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวในเชิงลบ เนื่องจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่เฟดจะต้องเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยหรืออาจจะมองได้ว่าในช่วงนี้ตลาดมองข่าวดีของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยลบ (Good News is Bad News) โดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ยังคงกดดันราคาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Microsoft -2.7%, Alphabet -2.0%) นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย จากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง ยังได้กดดันให้ราคาหุ้นพลังงานปรับตัวลงหนักตามราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลงกว่า -3.0% (Exxon Mobil -2.9%, Chevron -1.6%) ทำให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงกว่า -1.13%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -0.65% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ต่อเนื่อง (ASML -2.4%, Adyen -1.5%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงหนักของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ TotalEnergies -2.4%, Equinor -2.1% ตามการปรับตัวลงหนักของราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร (Santander +3.9%, HSBC +2.1%) ที่อาจได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดประเมินว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงระดับ 4.50% (Terminal Rate) ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.45% และยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุจุดสูงสุดก่อนหน้าที่ 3.50% ได้ เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอผลการประชุมเฟด เพื่อประเมินทิศทางการปรับนโยบายการเงินของเฟดที่ชัดเจนอีกครั้ง ผ่านคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยหรือ Fed’s Dot Plot ใหม่ รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจใหม่ของเฟด ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบเดิมไปก่อน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideways ต่อ โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 109.7 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะการถือครองที่ชัดเจน ทั้งนี้ เราพบว่า สถานะถือครองเงินดอลลาร์สุทธิ หรือ Net Long positions กลับไม่ได้เพิ่มขึ้น ตามการแข็งค่าทำจุดสูงสุดใหม่ของเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดอาจไม่ได้คาดหวังว่า เงินดอลลาร์จะแข็งค่ากว่าระดับปัจจุบันไปมากนัก อนึ่ง แม้ว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาก แต่ความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ นอกจากนี้ เรามองว่า ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ที่อาจกระทบต่อความต้องการซื้อทองคำในรูปแบบของเครื่องประดับ ก็เป็นอีกปัจจัยที่กลับมากดดันราคาทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลง -1.6% สู่ระดับ 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับสำคัญที่ราคาทองคำสามารถยืนเหนือระดับดังกล่าวได้ในช่วงการปรับฐานหลายครั้งก่อนหน้า ทำให้อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ห

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ของเดือนกันยายน ซึ่งตลาดคาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60 จุด หนุนโดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงต่อเนื่อง รวมถึงภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาข้อมูลเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง (5yr Inflation Expectations) ที่จะเปิดเผยพร้อมรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งหากเงินเฟ้อคาดการณ์ไม่ได้เร่งขึ้นทะลุระดับ 2.9% ไปมาก เฟดก็อาจไม่ได้จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมากขึ้นถึง +1.00% อย่างที่ตลาดกังวล หรือ เฟดก็อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ต่อเนื่องในทุกการประชุมที่เหลือ

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนในเดือนสิงหาคมจะยังคงสะท้อนภาพการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางแรงกดดันจากผลกระทบของการใช้มาตรการ Zero COVID รวมถึงผลกระทบของภาวะภัยแล้งที่ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานขึ้น โดยตลาดมองว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะโตเพียง 3.2%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะขยายตัว 3.5%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) ก็จะโตชะลอลงเหลือ +5.5%y/y, YTD ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่า แม้ภาพเศรษฐกิจจีนอาจชะลอลงในเดือนสิงหาคม แต่ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะยังไม่เร่งรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินหยวน (CNY) ในช่วงที่เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยกว่า +0.75% ในเดือนกันยายน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทใกล้ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์นั้น ส่วนใหญ่มาจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว เนื่องจากเงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนัก ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวดังกล่าว (คาดว่าจะเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรออกมาได้ หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 40-50 ดอลลาร์ต่อออนซ์) นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ในวันนี้ เนื่องจากหากข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้บรรยากาศตลาดการเงินฝั่งเอเชียยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ส่วนเงินหยวนก็อาจอ่อนค่าลงทดสอบแนวต้านจิตวิทยาสำคัญที่ 7.00 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินหยวนอาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้เช่นกัน (Correlation เงินหยวนกับเงินบาทสูงกว่า 69%)

แม้เราจะมองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะแนวต้านระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่คาดว่า บรรดาผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ แต่เงินบาทก็มีโอกาสที่จะอ่อนค่าทะลุแนวต้านไปได้ หากนักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทย ด้วยแรงขายสุทธิใกล้เคียงหรือมากกว่ายอดขายสุทธิในวันก่อนถึง -6.5 พันล้านบาท (ขายหุ้นสุทธิ -4.5 พันล้านบาท และขายบอนด์สุทธิ -2.0 พันล้านบาท)

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.05 บาท/ดอลลาร์