คณะกรรมการ MEA ติดตามเยี่ยมชมศักยภาพด้านระบบไฟฟ้าของ MEA ตอกย้ำความมั่นคงระบบไฟฟ้าเมืองมหานคร

0
89

นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะประธานกรรมการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง นำคณะกรรมการ MEA เยี่ยมชมเทคโนโลยีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าชิดลม พร้อมลงพื้นที่สำรวจอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA คณะผู้บริหาร และพนักงาน ให้การต้อนรับ ณ อาคารฝ่ายควบคุมระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานเพลินจิต

ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าชิดลม ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทันสมัยในการควบคุม ที่เรียกว่า ระบบ SCADA/EMS/DMS (Supervisory Control and Data Acquisition/Energy Management System/Distribution Management System) ใช้ในการตรวจสอบสถานะของการจ่ายกระแสไฟฟ้า วิเคราะห์สถานการณ์หรือสภาพการจ่ายกระแสไฟฟ้า การทำงานของระบบควบคุมไฟฟ้า ช่วยให้การบริหารจัดการควบคุมแรงดันและการจ่ายกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ มีคุณภาพและมีความปลอดภัย รองรับการปรับระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าในรูปแบบ Smart Grid สามารถสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า พร้อมรองรับทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อสามารถเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ และแก้ไขปัญหาได้ในระยะเวลาอันสั้น เป็นการพัฒนางานด้านระบบไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอมีความมั่นคงเชื่อถือได้ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน Outgoing ที่เยี่ยมชมครั้งนี้ เป็นอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินขนาดใหญ่แห่งใหม่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2564 มีแรงดัน 230 กิโลโวลต์ (kV) อยู่ใต้ถนนชิดลม ถึง ถนนสารสิน และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลม ถึงสี่แยกเพลินจิต) เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร ยาว 1.8 กิโลเมตร อยู่ลึกกว่า 40 เมตร ซึ่งเป็นอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีการเชื่อมโยงกับอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินเดิมซึ่งเชื่อมต่อระหว่างสถานีต้นทางบางกะปิถึงสถานีต้นทางชิดลม ยาว 7 กิโลเมตร อยู่ลึกกว่า 30 เมตร ลอดใต้แนวคลองแสนแสบ อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน และอุโมงค์ระบายน้ำของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งทั้งหมดถือเป็นหนึ่งในอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าในย่านธุรกิจสำคัญใจกลางเมืองที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าดับ ลดความเสี่ยงทางกายภาพที่อาจเกิดขึ้นกับสายไฟฟ้าแรงสูงบนพื้นดิน พร้อมทั้งสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามให้กับเมืองมหานครของประเทศไทย

ด้านแผนงานภาพรวมโครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ MEA ในปัจจุบัน มีระยะทางดำเนินโครงการทั้งสิ้น 313.5 กิโลเมตร มีเป้าหมายก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยขณะนี้ สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จรวม 73.4 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญในถนนต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยาถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์ เป็นต้น ขณะเดียวกันมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 240.1 กิโลเมตร เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก โครงการถนนพระราม 4 และโครงการก่อสร้างตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ โดยล่าสุด MEA ดำเนินการรื้อถอนเสาไฟฟ้าจำนวนกว่า 80 ต้น ตลอดแนวถนนสารสิน ระยะทาง 0.8 กิโลเมตร ตั้งแต่แยกถนนราชดำริ – แยกถนนวิทยุ ภายใต้โครงการ MEA เนรมิตถนนสารสิน ไร้เสาสายในคืนเดียว ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น ถือเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย สามารถต่อยอดไปสู่การร่วมกันพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

เทคโนโลยีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าชิดลม

SCADA

สายไฟฟ้าใต้ดิน

MEA #การไฟฟ้านครหลวง

พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร