เลขาธิการ คปภ. ลงพื้นที่รับฟังสภาพปัญหาและหารือเกษตรกรชาวสวนยางพารา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

0
899

เล็งนำร่องใช้ระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราในการประกอบอาชีพ ผ่าน “โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (ประกันภัยยางพารา)”ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาตามโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (ประกันภัยยางพารา) โดยมี นายศักดาพร รัตนสุภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภาคประชาชน สื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรมแก้วสมุย รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565

โครงการส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนในแต่ละภาค ภายใต้โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย เป็นนโยบายสำคัญของสำนักงาน คปภ. ที่ดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนในทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริงสำหรับปีนี้ สำนักงาน คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) ได้เสนอ “โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (ประกันภัยยางพารา) เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งของภาคใต้ และยังเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับ 2 ของประเทศ โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรปลูกยางพารา จำนวน 81,829 ครัวเรือน และมีพื้นที่ปลูกยางพารามากกว่า 2 ล้านไร่ การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยโดยตรงกับความต้องการ และสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วม จำนวน 130 คน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของประเทศเป็นอย่างมาก โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยเพื่อการเกษตรตามแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566)

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนด้วยการทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยมีเสถียรภาพ สร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้แก่ประชาชน พัฒนาเครือข่ายและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย และปรับปรุงกระบวนการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัยอย่างครบวงจร โดยสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านประกันภัยทางการเกษตรของประเทศผ่านการดำเนินนโยบายที่สำคัญในหลายด้าน อาทิ การประกันภัยข้าวนาปีและการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการนำระบบประกันภัยไปช่วยลดความเลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งอาชีพเกษตรกรรมในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องพึ่งพิงปัจจัยทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก จึงมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ และแมลงศัตรูพืช ฯลฯ โดยในปีนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายรวม จำนวน 29 ล้านไร่ นอกจากนี้ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 โดยมีพื้นที่เป้าหมายรวม จำนวน 2.12 ล้านไร่

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมมือทางวิชาการร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตร เพื่อร่วมมือผลักดันประกันภัยด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตรของเกษตรกรแบบครบวงจร สร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเกษตรกรรมในประเทศไทยให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน รวมทั้งสำนักงาน คปภ. ยังได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษา วิจัยเพื่อยกร่างกฎหมายประกันภัยพืชผลทางเกษตรโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยให้รองรับความเสี่ยงภัยของเกษตรกรอย่างยั่งยืน และเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถบริหารความเสี่ยงภัยจากภัยธรรมชาติ ให้บริษัทประกันภัยช่วยรับภาระความเสี่ยง และบริหารความเสี่ยงแทนภาครัฐและรองรับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดการงบประมาณของรัฐบาล ในการชดเชยเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ โดยให้ระบบประกันภัยร่วมเป็นกลไก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเกษตร และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่ากรมธรรม์ประกันภัยสวนยางพารา นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันภัยรายหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565

โดยรับประกันภัยต้นยางช่วงอายุ 7-26 ปี ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติหลัก ซึ่งบริษัทตกลงที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายของต้นยางพาราที่ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกที่เอาประกันภัย ซึ่งได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง อันเป็นผลเนื่องจาก 1) ไฟไหม้ รวมถึงไฟไหม้ที่เกิดจากหรือเป็นผลมาจากฟ้าผ่า (ไม่มีระยะเวลารอคอย) 2) ภัยน้ำท่วม (มีระยะเวลารอคอย 7 วัน) 3) ภัยลมพายุ (มีระยะเวลารอคอย 7 วัน) ซึ่งภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในระยะเวลาเอาประกันภัย ซึ่งความคุ้มครองดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีเครื่องมือประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เบี้ยประกันภัยรายปี (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) 99 บาทต่อไร่ จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,600 บาทต่อไร่ โดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยเป็นการคุ้มครองส่วนที่เพิ่มเติม (Top Up) จากที่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งยางพาราอยู่ในส่วนของไม้ยืนต้นก็จะเป็น 4,048 ต่อไร่ ไม่เกิน 30 ไร่ ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

ต่อจากนั้น ได้มีการเสวนาเกี่ยวกับการประกันภัยยางพารา โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ 1. นายชัยพร นุภักดิ์ เกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2. นายมโนพันธ์ ปานมี ผู้ช่วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี 3. นายศักดิ์ดา สำลีพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 4. นางสาวทัศนวรรณ เชาว์ดำรงสกุล หัวหน้ากลุ่มกำกับผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยสำหรับบุคคล สำนักงาน คปภ. โดยวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนาได้เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางตั้งแต่ กระบวนการเพาะปลูกยางพารา การขึ้นทะเบียนเกษตรกร การขอทุนเงินช่วยเหลือจาก ก.ย.ท ม. 49 (5) เหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น พายุเกย์ น้ำท่วมภาคใต้ ปี 2554 การเพาะปลูกยางพารา การช่วยเหลือของ ก.ย.ท และเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยสวนยางพารา โดยวิทยากรทุกคนเห็นตรงกันว่าการประกันภัยยางพาราจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรชาวสวนยางในการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยโดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ

ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้นอกจากเกษตรกรจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยสวนยางพาราแล้ว สำนักงาน คปภ. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมมนาเพื่อไปปรับปรุงแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยยางพาราให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยเข้าร่วมมากขึ้นต่อไป
จากนั้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 เลขาธิการ คปภ.และคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรคเกี่ยวกับประกันภัยสวนทุเรียนของชาวสวนทุเรียนในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลแม่น้ำ หมู่ที่ 2 ตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี นางสาวลัดดาวัลย์ บุญจันทร์ อาสาสมัครชุมชนเกษตรสวนทุเรียน อำเภอเกาะสมุย เป็นแกนนำกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยสวนทุเรียน สำนักงาน คปภ. มีนโยบายเชิงรุกในการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาเกี่ยวกับความเสี่ยงของพืชผลทางเกษตรจากเกษตรกรชาวสวนทุเรียนบนเกาะสมุย เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกทุเรียนหมอนทองทวายที่ให้ผลผลิตนอกฤดูกาล (เดือนก.ค – ก.ย) เพาะปลูกบนภูเขาสูง และได้สะท้อนปัญหาที่หลากหลายโดยเฉพาะภัยจากศัตรูพืช เช่น โรคเชื้อราสีชมพูซึ่งเคยระบาดอย่างหนักทำให้ทุเรียนเสียหายนับพันต้น เมื่อ 4-5 ปีก่อน ราคาน้ำมัน ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชที่มีราคาที่สูงกว่าแผ่นดินใหญ่เนื่องจากเป็นพื้นที่เกาะและมีค่าขนส่งที่จะต้องนำมาใช้คำนวณเป็นต้นทุนการผลิต และข้อจำกัดของเจ้าของสวนทุเรียนอีกประการหนึ่ง คือ พื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่มีโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ เพียงแต่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ ก็อาจจะต้องดูนโยบายภาครัฐ รวมถึงการร่วมมือกับ ธกส. ในการให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ความคุ้มครองของการประกันภัยทุเรียน หากพื้นที่ประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินทางการจะให้ความช่วยเหลือ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยทุเรียนก็จะสามารถช่วยเหลือในการบริหารความเสี่ยงให้กับชาวสวนทุเรียนได้ จะมีลักษณะเดียวกับการประกันภัยข้าวนาปีและประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในส่วนของสำนักงาน คปภ. เมื่อได้ข้อมูลจะนำมาวิเคราะห์ว่าในแต่ละปีมีภัยธรรมชาติอะไรที่ส่งผลกับสวนทุเรียน เนื่องจากการทำประกันภัยต้องนำสถิติข้อมูลความเสี่ยงภัยของเกษตรกรมาพิจารณา เช่น ภัยแล้ง ไฟป่า ไฟไหม้ พายุ น้ำท่วม ส่วนพื้นที่ที่อยู่บนที่สูง แล้วไม่มีน้ำท่วมก็อาจจะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของน้ำท่วมอาจจะทำให้เบี้ยประกันภัยถูกลง
“การลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นและหารือเกี่ยวกับสภาพปัญหาจากพี่น้องชาวสวนยางพารา และสวนทุเรียน
ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งนี้ เป็นการบูรณาการโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริง รวมทั้งใช้เป็นโมเดลสร้างภูมิคุ้มกันในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรและยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย