KBank Private Banking เผยกลยุทธ์ลงทุนช่วงโค้งสุดท้ายของปี หลังคาดอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ยังเชื่อมั่นในการกระจายการลงทุน แนะนักลงทุนจัดสรรเงินลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ สินทรัพย์ทางเลือก ตลอดจนสินทรัพย์นอกตลาด

0
445

KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง) ประเมินเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พบว่าอยู่ในแนวโน้มหดตัว เป็นผลต่อเนื่องมาจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ในปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปน่ากังวลมากที่สุด ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวได้ดี แม้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ด้านจีนแม้ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาอ่อนแรงลง แต่ทางการจีนเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย KBank Private Banking คาดว่าวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ย ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ซึ่งยังคงคำแนะนำให้กระจายการลงทุน โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ให้ลงทุนในกองทุนผสมแบบ Risk-based และเงินลงทุนส่วนเสริมให้จัดสรรเงินลงทุนตามสถานการณ์ ทั้งในหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก อีกทั้งยังมีเงินสดเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตเพื่อรอโอกาสเข้าลงทุนในอนาคต
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ถือเป็นอีกไมล์สโตนสำหรับการลงทุน โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา ในการประชุม 11 ครั้ง เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ที่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพราะแม้เงินเฟ้อลดลงแต่ยังสูงกว่าเป้าหมาย นอกจากนั้นตั้งแต่ต้นปีเศรษฐกิจโลกได้เผชิญความผันผวนจากหลายเหตุการณ์สำคัญๆ อาทิ วิกฤตธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ไม่ว่าจะเป็น การปิดตัวลงของ Silicon Valley Bank และ UBS ต้องเข้าซื้อกิจการของ Credit Suisse ในฝั่งของจีนก็ได้สร้างความผิดหวังให้ตลาดหลังเปิดประเทศแล้วยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ส่วนประเทศไทยบ้านเราก็มีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่คาดว่าจะมาพร้อมกับมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ส่งผลให้บางช่วงของปีดัชนีตลาดหุ้นโลก (MSCI All Country World Index) ได้ปรับขึ้นไปถึง +15% แต่ ณ ปัจจุบันได้มีการปรับตัวลงมาบ้างอยู่ที่ +10%”
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกพบว่าภาคการผลิตของโลกอยู่ในแนวโน้มหดตัว ขณะที่ภาคบริการแม้ยังขยายตัวได้แต่ลดลงมากเป็นผลสะสมมาจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรงในปี 2565-2566
• สหรัฐฯ เงินเฟ้อถือว่าปรับลงมามากแล้ว แต่ที่ผ่านมาเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ดี ทำให้ธนาคารกลางใช้โอกาสนี้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้มากที่สุด KBank Private Banking มองว่ามีโอกาส 70% ที่จะเห็น Soft Landing คือต้นทุนดอกเบี้ยสูงจะกดดันธุรกิจ การจ้างงานและการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจชะลอลงแต่ไม่ถึงกับตกต่ำรุนแรง เงินเฟ้อลดลงเข้าใกล้เป้าหมาย และธนาคารกลางหยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็มีความเป็นไปได้อีก 10% ที่เศรษฐกิจเติบโตมาก เช่น สูงกว่า 3% ตามมาด้วยการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปถึง 6.5-7%
• ยุโรป เป็นภูมิภาคที่น่ากังวลที่สุด เพราะแม้จะรับมือกับวิกฤตราคาพลังงานได้ดีกว่าคาด แต่โมเมนตัมของเศรษฐกิจอ่อนกำลังลงมาก โดยเฉพาะเยอรมันที่พึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศ
• จีน หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาอ่อนแรงลง ทางการจีนก็เดินหน้าอออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตลาดคาดหวังการปฏิรูปอย่างมีนัยยะมากขึ้น เพราะปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังยืดเยื้อ จีนต้องเร่งสร้างเสถียรภาพการจ้างงาน กระตุ้นความต้องการบริโภค และแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น
• ไทย ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด GDP ปี 2566 จะขยายตัวที่ 3% ในปี ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วที่ 2.6% แต่ได้ปรับลดลงจากการคาดการณ์เมื่อช่วงกลางปี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยเฉพาะจีน ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวและการส่งออก

ด้านนางสาวศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “KBank Private Banking ยังเชื่อมั่นในการกระจายการลงทุน โดยแนะนำจัดพอร์ตการลงทุนแบบ Core & Satellites โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ (Core portfolio) 50-70% ของเงินลงทุนให้ลงทุนในกองทุนผสมแบบ Risk-based ที่กระจายลงทุนในสินทรัพย์หลักทั่วโลกผ่านกองทุน ALL ROADS Series ที่ใช้การจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ไม่ขึ้นกับการคาดการณ์ของตลาดหรือผู้จัดการกองทุน และเงินลงทุนส่วนเสริม (Satellites portfolio) 30-50% ของเงินลงทุนให้ลงทุนตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจและตลาดทุน โดยจัดสรรเงินลงทุนในทั้งหุ้น ตราสารหนี้ พร้อมทั้งกระจายลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกทั้ง Hedge Funds ตลอดจนสินทรัพย์นอกตลาด ทั้งนี้เรายังมีเงินสดอยู่เป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตเพื่อรอเข้าลงทุนในอนาคต”
โดย KBank Private Banking มีมุมมองและคำแนะนำการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ ดังนี้
• หุ้น: มีมุมมองบวกมากขึ้น จากข้อมูลทางสถิติพบว่าในไตรมาส 4 ของปี ตลาดหุ้นโลกมักให้ผลตอบแทนเป็นบวก และเมื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย ตลาดหุ้นทุกประเทศให้ผลตอบแทนเป็นบวกหลังจากนั้นเป็นเวลา 12 เดือน โดยธนาคารฯ แนะนำลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยกระจายไปทั่วโลกไม่ได้กระจุกตัวแค่ในสหรัฐฯ เช่น หุ้นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน หุ้นเทคโนโลยี และยังคงมีมุมมองบวกต่อการลงทุนในหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะหุ้นจีน และหุ้นไทยที่มีความเสี่ยงขาลงค่อนข้างจำกัด
• ตราสารหนี้: ประเมินว่าบอนด์ยีลด์ทั่วโลกเข้าใกล้จุดสูงสุด ดังนั้นการลงทุนในตราสารหนี้ต่อจากนี้มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดี ได้ทั้งผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่ให้อยู่ในระดับสูง และมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากราคาที่เพิ่มขึ้นหากบอนด์ยีลด์ปรับลงในระยะข้างหน้า โดยแนะนำลงทุนในกองทุนที่กระจายลงทุนในตราสารหนี้หลายประเภททั้งพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้บริษัทเอกชน โดยกองทุนมีกลยุทธ์มีการปรับอายุของตราสารเชิงรุกให้เหมาะสมกับสถานการณ์
• สินทรัพย์ทางเลือก: มองว่าปีนี้ถือเป็นโอกาสทองในการเข้าลงทุนในหุ้นนอกตลาด เพราะจากข้อมูลในอดีตพบว่าการเริ่มลงทุนในหุ้นนอกตลาดในปีที่มีวิกฤต การลงทุนในหุ้นนอกตลาดมักให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่ลงทุนไปแล้ว 7 ปี และยังแนะนำเติมเต็มพอร์ตการลงทุนด้วยกองทุน Hedge funds ในหลายหลายกลยุทธ์เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวม
นายจิรวัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า “เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนและผันผวนสูง KBank Private Banking ในฐานะที่ปรึกษาด้านการลงทุนยังคงคำแนะนำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการจัดพอร์ตการลงทุนแบบ Core & Satellites และการกระจายความเสี่ยง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของกลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำมาโดยตลอด”
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถรับชมงานสัมมนา Charting the Future : Portfolio Strategies Beyond Rate Hikes ได้ที่ https://youtu.be/aCI12SB3plY หรือ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของ KBank Private Banking ได้ที่ https://kbank.co/3NrNbw9