บ.โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) สนับสนุนกรมอนามัย ร่วมลดความชุก ‘อ้วน’ ในประเทศ นำร่องฝึกอบรมหลักสูตรภาวะอ้วนสำหรับแพทย์

0
248

บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนกรมอนามัย จัดโครงการนำร่องฝึกอบรมหลักสูตร ‘แนวทางการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สำหรับแพทย์’ หรือ HCP Obesity Curriculum เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ให้มีความรู้ความเข้าใจ ทักษะการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดูแลผู้ป่วย การป้องกันและรักษาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยกรมอนามัยขับเคลื่อนงานผ่าน ‘เวชศาสตร์วิถีชีวิต’ (หรือ Lifestyle Medicine) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริการทางการแพทย์แนวใหม่ ที่เน้น การปรับเปลี่ยนปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมเพื่อสุขภาพดี ร่วมกับการผสมผสานและบูรณาการศาสตร์ทางการแพทย์มาวางแผนเพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านโภชนาการ  2) ด้านการออกกำลังกาย 3) ด้านการนอนหลับ 4) ด้านการจัดการความเครียดและจัดการด้านอารมณ์ 5) ด้านการลดเลิกบุหรี่ สุรา และ 6) ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2565 พบว่าปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลกมากกว่า 1 พันล้านคน ที่มีภาวะอ้วน แบ่งเป็นผู้ใหญ่ 650 ล้านคน วัยรุ่น 340 ล้านคน และเด็ก 39 ล้านคน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 จะมีผู้คนกว่า 167 ล้านคนทั่วโลกจะมีสุขภาพที่ไม่ดีจากภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภาวะเหล่านี้ โดยคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 4.9 ของ GDP ในประเทศไทย ขณะเดียวกัน หากลดความชุกของภาวะอ้วนลงร้อยละ 5 จากระดับที่คาดการณ์ไว้หรือคงไว้ที่ระดับปี 2562 จะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจลดลงเฉลี่ยร้อยละ 5.2 และร้อยละ 13.2 ต่อปี ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2603 ตามลำดับ

การฝึกอบรมหลักสูตร ‘แนวทางการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน สำหรับแพทย์’ หรือ HCP Obesity Curriculum ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอ้วนครบในทุกมิติ ครอบคลุมตั้งแต่สาเหตุของการเกิดภาวะอ้วน ผลของภาวะอ้วนที่มีต่อสุขภาพอนามัย จิตใจ เศรษฐกิจสังคม แนวทางการรักษาภาวะอ้วน รวมถึงการดูแลผู้ป่วย และการป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

จจ โดยในการอบรมยังมีแพทย์เฉพาะทางและแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผศ.พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ ผศ.พญ.ดารุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร และรศ.พญ.ประพิมพร ฉัตรานุกูลชัย ฯลฯ ร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อหลักสูตร อาทิ โรคอ้วน กลไกและสมดุลของร่างกาย หลักการในการดูแลรักษาโรคอ้วน แนวทางปฏิบัติและข้อควรพิจารณา ในการดูแลรักษาโรคอ้วนและการนำไปใช้จริง รวมถึงทัศนคติมุมมองที่มีต่อโรคอ้วนจากผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และที่สำคัญได้นำความรู้ไปปรับใช้ในงานเวชปฏิบัติและสามารถพัฒนาต่อยอดในการส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยต่อไป เพื่อการมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น