ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน ผนึกกำลัง พพ. ผลักดันมาตรฐาน REED ออกแบบบ้านอยู่อาศัยเซฟพลังงานลดโลกร้อน

0
347

 มาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) ผนึกพันธมิตร กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ประกาศความร่วมมือผลักดันมาตรฐานใหม่ REED (Residential Energy Efficiency Design) พร้อมเชิญชวนนักออกแบบโชว์ศักยภาพ ส่งผลงานการออกแบบบ้านเข้าร่วมโครงการส่งเสริมมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย REC (Residential Energy Code) ปิดรับสมัคร 14 กรกฎาคมนี้ หวังกระตุ้นผู้บริโภคยุคใหม่และธุรกิจใส่ใจสภาพแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) เปิดเผยว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทั่วโลกและผู้บริโภคในไทย (Green Consumer) ให้ความสนใจมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ พร้อมเดินหน้าทำงานในกิจกรรมที่หลากหลาย โดย ล่าสุด สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ผลักดันมาตรฐาน “การออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน” หรือ (Residential Energy Efficiency Design : REED) ของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับการใส่ใจสภาพแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

โดยได้เชิญชวนนักออกแบบร่วมโชว์ศักยภาพส่งผลงานการออกแบบบ้าน ภายใต้โครงการส่งเสริมมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย หรือ REC (Residential Energy Code) ซึ่งเปิดให้ผู้ที่สนใจส่งผลงานการออกแบบบ้านที่มุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและประหยัดพลังงาน

การประกวดแบบบ้านประหยัดพลังงานแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

  1. 1. กรณีการขอรับรองแบบบ้านประหยัดพลังงานการพิจารณาคะแนนในแต่ละหมวดนั้น จะพิจารณาจากรายละเอียดของผลงานตามหัวข้อย่อย ดังต่อไปนี้

– ด้านแนวคิดการออกแบบ มีการใช้ลมและแสงธรรมชาติ การจัดวางผังบริเวณและงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม รวมถึงการออกแบบผังอาคาร

– ด้านงานสถาปัตยกรรม มีการเลือกใช้วัสดุช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน (ผนังทึบ กระจก หลังคา สีทาบ้าน) การใช้อุปกรณ์บังแดดเพื่อช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน

– ด้านงานวิศวกรรม การเลือกใช้อุปกรณ์ หรือ เทคโนโลยี เพื่อการประหยัดพลังงานและน้ำ การใช้นวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน

– ด้านอื่น ๆ ทั้งแนวคิดการออกแบบเพื่อรองรับเทคโนโลยีพลังงานทดแทน และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

  1. 2. กรณีการประกวดแบบบ้านประหยัดพลังงานผลงานต้องผ่านการรับรองแบบบ้านตามหลักเกณฑ์ มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานบ้านอยู่อาศัยของ พพ. ก่อน และต้องมีบ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี2566 และผู้ได้รับรางวัลต้องยินยอมให้ พพ. นำแนวคิดการออกแบบของผลงานไปเผยแพร่สู่สาธารณะได้

โดยรับรางวัลเกียรติบัตรรับรอง ในกรณีขอรับรองแบบบ้านประหยัดพลังงาน และรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณ ในกรณีการประกวดแบบบ้านประหยัดพลังงาน สำหรับบ้านที่ได้รับคะแนนตามเกณฑ์การตัดสิน การประกวดเกินกว่าร้อยละ 80 โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ระดับ Gold, Silver และ Bronze ในเดือนสิงหาคมจะเข้าสู่การตัดสินรอบรับรองแบบบ้าน และในเดือนกันยายน เป็นการลงพื้นที่ตรวจสอบผลงานจริง ไปจนถึงเข้าสู่การตัดสินการประกวดในตุลาคม 2566

ทั้งนี้ สมาคมฯ และพพ. ร่วมกันผลักดันโครงการส่งเสริมมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย หรือ REC (Residential Energy Code) ในครั้งนี้ เพื่อยกระดับการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน และสนับสนุนผู้ให้บริการรับสร้างบ้านเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน ยังมีกิจกรรมสร้างการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ผ่านการจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ ในโครงการส่งเสริมมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัยถึงมาตรฐานเพื่อการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมมาตรฐาน ประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย และกระตุ้นบุคลากรที่เกี่ยวข้องในวงการบ้าน อีกทั้งกระตุ้นการขยายตัวของบ้านที่ได้มาตรฐานพลังงานในตลาด และเป็นการเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมการใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัยในอนาคตอย่างจริงจัง

ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายกฤษณะ อาสน์สุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิศวกรรมพลังงาน, นายฐิติกรณ์ จันทรังษี ผู้เชี่ยวชาญด้านงานสถาปัตยกรรม และนายภุชงค์ คำปัญจะ วิศวกรโครงการ โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ มีทั้งผู้ที่ทำธุรกิจออกแบบและสร้างบ้าน ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สถาปนิก วิศวกร และเจ้าของบ้าน เป็นต้น

ขอเชิญส่งผลงานการออกแบบบ้านเข้าร่วมโครงการส่งเสริมมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย หรือ Residential Energy Code : REC โดยสามารถกรอกข้อมูลใบสมัครและส่งเอกสารได้ที่ Google Form ตาม QR Code สิ้นสุดการรับสมัครในวันที่ 14 ก.ค. 2566 นี้