กรมวิทย์ฯ บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด และศูนย์การดูแลผู้ป่วยโรคหายากพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด แบบเพิ่มจำนวนโรคในระดับประเทศ

0
201

วันนี้ (23 พฤษภาคม 2567) ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนาทางวิชาการ “ผลการดำเนินงานขยายการคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรค ภายใต้สิทธิประโยชน์จาก 13 เขตสุขภาพ”

โดยมี นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา และมี ดร.ปนัดดา เทพอัคศร ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ นางหรรษา ไทยศรี หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการ ตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดแห่งชาติ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์การดูแลผู้ป่วยโรคหายาก และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสิ้น 60 คน

โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา นายกสมาคมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นไทย บรรยายเรื่อง แนวทางปฏิบัติและข้อพึงระวัง ในการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด ต่อด้วยเสวนาวิชาการ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์และวิธีปฏิบัติที่ดี ร่วมระดมสมองเพื่อวางแผนปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพ ของบุคลากร และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดในระดับประเทศ สนับสนุนนโยบายการควบคุมและป้องกันโรค เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทารกแรกเกิด


นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายขยายการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรค โดยเพิ่มการคัดกรองกลุ่มโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก เรียกโดยย่อว่า IEM และกำหนดเป็นชุดสิทธิประโยชน์ ทารกไทยแรกเกิดทุกรายจะได้รับการคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดและเพิ่มการคัดกรองกลุ่มโรค IEM จำนวน 40 โรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดในระดับประเทศ ได้รับมอบหมายให้เพิ่มหน่วยตรวจคัดกรองให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม จึงได้พัฒนาศักยภาพเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนกลาง คือ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฏร์ธานี ร่วมเป็นหน่วยตรวจคัดกรองและเปิดให้บริการในเขตสุขภาพที่ 1 3 6 10 11 และ 13 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566


นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยตรวจคัดกรอง รวม 10 แห่ง และศูนย์การดูแลผู้ป่วย โรคหายาก 7 แห่ง ที่ให้บริการครอบคลุม 13 เขตสุขภาพ ซึ่งมีความแตกต่างทั้งด้านเทคนิควิธีวิเคราะห์ ชุดน้ำยา การแปลผล รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ภายหลังการดำเนินงานควรมีกลไกในการควบคุมกำกับติดตามและประเมินผล ในปี 2567 กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายขับเคลื่อนส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดเพื่อให้ทารกไทยแรกเกิดได้รับการตรวจคัดกรองโรคหายาก IEM 40 โรค ได้มากกว่าร้อยละ 95 ณ เดือนกันยายน 2567 โดยมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นเจ้าภาพรวบรวมข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้ครอบคลุม 13 เขตสุขภาพ
“เป้าหมายหลักของการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดคือ “ตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาง่าย ผลการรักษาดี สติปัญญาดี” ทารกที่มีความเสี่ยงต่อภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด ควรได้รับการรักษาภายในอายุ 14 วัน กลุ่มโรค IEM ควรได้รับการรักษาภายในอายุ 7 วัน เพื่อลดความเจ็บป่วยรุนแรง ลดความพิการถาวรและการเสียชีวิตในวัยทารก การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด มีความคุ้มคุ้มค่าช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาของประเทศกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพช่วยพัฒนาประเทศชาติได้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ ตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดแห่งชาติ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0-2951-0000 ต่อ 99227, 99297 หรือ 090-1976476-7 และ 084-4382279” นายแพทย์บัลลังก์ กล่าว