ธุรกิจประกันชีวิตเผยตัวเลข มกราคม-พฤษภาคม ปี 2564 เติบโตร้อยละ 3.17

0
1494

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิต5 เดือนแรก ปี 2564 (มกราคม-พฤษภาคม) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 240,825.51 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.17 โดยแยกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 68,431.61 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 10.82 ซึ่งประกอบด้วย เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 37,784.93 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 5.54 เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 30,646.68 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 40.94 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 172,393.90 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 0.42  อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 81

ซึ่งช่องทางตัวแทนประกันชีวิตยังคงเป็นช่องทางหลัก ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 115,529.05 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93  มีสัดส่วนร้อยละ 47.97 รองลงมาเป็นการขายผ่านธนาคาร เบี้ยประกันภัยรับรวม 100,906.68 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 6.21 มีสัดส่วนร้อยละ 41.90 ตามด้วยช่องทางนายหน้าประกันชีวิตเบี้ยประกันภัยรับรวม 12,008.45 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.03 มีสัดส่วนร้อยละ 4.99 ช่องทางอื่นๆ
เบี้ยประกันภัยรับรวม 6,165.08 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.06 มีสัดส่วนร้อยละ 2.56 ช่องทางโทรศัพท์เบี้ยประกันภัยรับรวม 5,937.42 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.19  มีสัดส่วนร้อยละ 2.47  ช่องทางดิจิทัล​เบี้ยประกันภัยรับรวม 262.41 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.64 มีสัดส่วนร้อยละ 0.11 และ ช่องทางไปรษณีย์ เบี้ยประกันภัยรับรวม 16.41  ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 15.33 มีสัดส่วนร้อยละ 0.01 

ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตสูงเป็นผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 17,250.63 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงถึงร้อยละ 97.52 ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 39,043 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.21 และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีสัดส่วนการขายอยู่ในระดับน้อยแต่มีเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.32

จากการที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เนื่องจากแบบประกันดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันได้ครบทุกช่วงวัยพร้อมยังให้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าการฝากเงินธนาคาร ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 8-12% ทุกปี รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และสถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงอื่นๆ ทำให้ประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจประกันภัยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมายพร้อมมีการบริการหลังการขายแบบครบวงจรและมีการเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลด้วย ในส่วนของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญนั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ที่สามารถเข้ามาช่วยในการบริหารรายรับรายจ่ายในระดับที่เพียงพอต่อความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุได้เป็นอย่างดี เพื่อสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจจะต้องร่วมมือกัน ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญให้สามารถตอบโจทย์เพื่อวัยเกษียณได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ” นายกสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าวในตอนท้าย