GDP ไทยไตรมาส 4/2021 ขยายตัวสูงกว่าคาดตามการฟื้นตัวของการส่งออก และอุปสงค์ในประเทศ ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงท้ายของปี

0
1291

KEY SUMMARY

เศรษฐกิจไทย Q4/21 เริ่มฟื้นตัว

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 เริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2021 ขยายตัวที่ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวถึง 1.8% QOQ sa (หลังปรับปัจจัยฤดูกาล) ทำให้ทั้งปี 2021 เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตที่ 1.6% สูงกว่าคาดการณ์จากอุปสงค์สินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น กอปรกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและส่งออกในช่วงปลายปี

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนยังแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ระดับการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจของไทยยังแตกต่างกันจากผลกระทบของโควิด
ในภาพรวมปี 2021 แม้เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้หลังจากเผชิญกับการระบาดระลอกใหญ่ในช่วงกลางปี แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแผลเป็นด้านหนี้ครัวเรือนและตลาดแรงงานที่ยัง
ไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยหากพิจารณาแยกตามส่วนประกอบและภาคเศรษฐกิจพบว่า การส่งออกและการบริโภคภาครัฐสามารถฟื้นตัวกลับมาอยู่สูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว ขณะที่กิจกรรมในภาคการเงินและการก่อสร้างกลับมาอยู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาด อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจที่พักและร้านอาหาร

คาดปี 2022 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร่งขึ้น

สำหรับปี 2022 EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอัตราเร่งขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 3.2% ตามการฟื้นตัว
อย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ทั้งภายในและนอกประเทศ โดยถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเป็นปัจจัยฉุดรั้งการใช้จ่ายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวได้ จากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นในช่วง
ครึ่งปีหลัง ขณะที่การส่งออกสินค้าจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

KEY POINTS

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2021 พลิกกลับมาขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หลังจากที่หดตัว -0.2% ในไตรมาสก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีการระบาดของเชื้อโควิด
สายพันธุ์เดลตา เศรษฐกิจไทยขยายตัวถึง 1.8%QOQ sa (หลังปรับปัจจัยฤดูกาล) สำหรับในภาพรวมของปี 2021 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.6% หลังจากที่หดตัวหนักถึง -6.2% ในปี 2022​

รูปที่ 1 : เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2021 ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีการระบาด
ในระดับรุนแรงในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ สศช.

รูปที่ 2 : แหล่งที่มาของการขยายตัว Real GDP (Contribution to contraction) ไตรมาส 4 ปี 2021

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ สศช.

ในด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) การส่งออกสินค้าและการบริโภคภาครัฐขยายตัวได้
ในอัตราที่สูง การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือเป็นปัจจัยฉุดสำคัญ

    • การบริโภคภาคเอกชนพลิกกลับมาขยายตัวที่ 0.3%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) หลังจาก
      หดตัว -3.2% ในไตรมาสก่อนหน้า จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันใหม่ที่ลดลง ส่งผลให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค รวมถึงมีการใช้นโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายจากรัฐ โดยใน
      ไตรมาสนี้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวได้ ส่วนในหมวดอื่น ๆ ถึงแม้จะยังหดตัวแต่ก็หดตัว
      ในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า
    • การบริโภคภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องที่ 8.1% เร่งตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.5% โดยขยายตัวในทุกหมวดสำคัญ โดยเฉพาะการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดที่ขยายตัว 38.5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 
    • การลงทุนภาครัฐพลิกกลับขยายตัว 1.7% หลังจากที่หดตัว -6.2% ในไตรมาสก่อนหน้าจากการลงทุน
      ในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวถึง 10% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเบิกจ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์
      ตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ด้านการก่อสร้างหดตัวเล็กน้อยที่ 0.7% เนื่องจากในไตรมาสนี้รัฐวิสาหกิจยังไม่มีการก่อสร้างในโครงการใหม่ มีเพียงการก่อสร้างในโครงการต่อเนื่อง
  • การลงทุนภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัว -0.9% จากที่ขยายตัว 2.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุน
    ในด้านเครื่องมือเครื่องจักรหดตัว -0.9% จากการลงทุนในหมวดยานยนต์เป็นหลัก ส่วนการลงทุนด้านการก่อสร้างยังคงหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 ที่ -0.9%
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ 16.6% จากที่ขยายตัว 12% ในไตรมาสก่อนหน้า
    ซึ่งเป็นไปตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก 
  • มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวชะลอลงที่ 14% โดยยังขยายตัวในทุกหมวดสำคัญ ขณะที่การนำเข้าบริการขยายตัว 28.8% จากค่าบริการขนส่งที่สูงขึ้นอย่างมาก
  • การส่งออกภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ 30.5% จาก 14.7% ในไตรมาสก่อนหน้า จากค่าบริการขนส่งสินค้า ค่าประกอบธุรกิจอื่น ๆ และรายรับจากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น
  • ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือถึงแม้ว่าจะปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 303,343 ล้านบาท โดยในไตรมาสนี้การสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตร
    และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจรที่มีการผลิตมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการ
    ใช้งานจากทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ราคาสินค้าที่สูงขึ้นก็ส่งผลทำให้สินค้าคงคลังในไตรมาสนี้มีมูลค่าสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

ด้านการผลิต (Production Approach) ในไตรมาสนี้สามารถขยายตัวได้ทั้งในภาคการเกษตรภาคการผลิตอุตสาหกรรม และภาคบริการ 

  • ภาคการเกษตรขยายตัว 0.7% ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.2% โดยมียางพารา อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สับปะรดเป็นปัจจัยหนุน ในขณะที่หมวดปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโรคระบาดและข้าวนาปีที่ลดลงเป็นปัจจัยฉุด
    • ภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาขยายตัว 2.6% หลังจากที่หดตัว -1.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 3.8% หลังจากที่หดตัว -0.9% ในไตรมาสก่อนหน้า
      ตามการขยายตัวของอุปสงค์ในสินค้าจากทั้งภายในและนอกประเทศ แต่มีปัจจัยฉุดที่สำคัญจากสาขาการทำเหมืองแร่และเหมืองหินที่หดตัวมากถึง 13.4%
  • ภาคบริการขยายตัว 1.6% เร่งตัวขึ้นจาก 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า จากการขยายตัวในสาขาการขายส่งและการขายปลีก การเงิน การสื่อสาร และการขนส่ง ส่วนสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารหดตัว -4.9% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ -19%

IMPLICATIONS

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 เริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา
โดยได้รับอานิสงส์จากทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ลดลง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงนโยบายในการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้ โดยเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 1.9% ซึ่งนับเป็นการขยายตัวที่มากกว่าคาด โดยสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 นี้ปรับตัวสูงกว่าที่คาดนั้น เนื่องจากได้แรงสนับสนุนสำคัญจากการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาครัฐที่ขยายตัวได้ถึง 8.1% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคมสำหรับผู้ป่วยโรค COVID-19 ทำให้ทั้งปี 2021 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ที่ 1.6% และเป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือในไตรมาสที่ 4 ปรับตัวลดลง สะท้อนถึงมูลค่าเศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายที่โตสูงกว่ามูลค่าเศรษฐกิจด้านการผลิต สอดคล้องกับการ
ฟื้นตัวของอุปสงค์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงท้ายของปี

เมื่อพิจารณาการขยายตัวของเศรษฐกิจรายสาขาพบว่ายังมีความแตกต่างในการฟื้นตัว (uneven)จากผลกระทบจากวิกฤติโควิดอยู่ โดยหากพิจารณาในด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) พบว่าภาค
การส่งออกและการบริโภคภาครัฐ สามารถฟื้นตัวและกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดได้แล้ว ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จากภาครัฐ ในขณะที่ภาคส่งออกบริการ ซึ่งมีการท่องเที่ยวเป็นองค์ประกอบหลักยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงก่อนการระบาดอยู่มาก (รูปที่ 3 ซ้าย) สำหรับในด้านการผลิต (Production Approach) พบว่าบางภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และการคมนาคมขนส่ง ยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูให้กลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดรวมไปถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด อย่างไรก็ตาม ภาคการเงินและภาคก่อสร้างสามารถฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ในระดับที่เหนือกว่าช่วงก่อนการระบาดได้แล้ว ณ ปัจจุบัน (รูปที่ 3 ขวา)

รูปที่ 3 : ระดับการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจของไทยยังมีความแตกต่างกัน

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ สศช.

สำหรับปี 2022 EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอัตราเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งภายใน
และนอกประเทศต่อเนื่อง โดยถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศเป็นปัจจัยฉุด แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวได้ เริ่มจากภาคการท่องเที่ยวที่ในช่วงไตรมาสแรกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่จากทั้งสถานการณ์การท่องเที่ยวโลกที่ยังซบเซาและการชะลอนโยบาย Test & Go ในเดือนมกราคมเพื่อป้องกันการระบาดของทางการไทย แต่ในครึ่งปีหลังคาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีนักท่องเที่ยวจากชาวจีนในปีนี้ก็ตาม ขณะที่การส่งออกสินค้าจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในปี 2022 โดยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้แม้ในอัตราที่ชะลอลงตามทิศทาง
ของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่คาดว่าจะจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น รวมถึงได้อานิสงส์ใหม่จากการที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

ด้านการใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวเช่นกันจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่จะกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น
ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน อัตราการป่วยหนักและอัตราการเสียชีวิตจากโอมิครอนที่ยังอยู่ในระดับต่ำเทียบกับการระบาดในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (รูปที่ 4) อีกทั้ง ยังจะได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) ของผู้มีกำลังซื้อ นอกจากนี้ การส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้น
ก็จะส่งผลต่อเนื่องให้การลงทุนและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากระดับนักท่องเที่ยวที่ยังต่ำกว่าช่วงปกติมาก และผลของแผลเป็นเศรษฐกิจจากผลกระทบในช่วงสองปีที่ผ่านมาทั้งในด้านพลวัตการเปิดปิดกิจการที่ยังซบเซาเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในส่วนการลงทุนของภาครัฐจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) แต่แรงส่งจากภาครัฐในภาพรวมจะลดลงจากปีก่อนหน้าตามการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณที่ลดลง เม็ดเงินราว 1.1 แสนล้านบาทที่จะเหลือจาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็ถือว่ายังน้อยกว่าเม็ดเงินที่ภาครัฐใช้ทำมาตรการเพิ่มเติมในปี 2021

รูปที่ 4 : กิจกรรมการเดินทาง (mobility) ณ ปัจจุบันยังคงอยู่สูงกว่าช่วงการระบาดของเดลตา แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข, ศบค., Apple, และ Google

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่หลายประการ ได้แก่ 1) การระบาด COVID-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์หรือเกิดไวรัสสายพันธุ์ย่อยเช่น Omicron BA.2 ที่อาจลดประสิทธิภาพวัคซีนลง 2) ภาวะเงินเฟ้อโลกและภาวะการเงินที่ตึงตัวจากการเปลี่ยนทิศทางนโยบายของธนาคารกลางหลักของโลก จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย 3) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในวงกว้าง 4) เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาด ทั้งผลจากนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีหนี้ในระดับสูง และ 5) ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ที่อาจนำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง

เศรษฐกิจปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้เดิม จากการติดตามข้อมูลทั้งในด้านเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ ตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และข้อมูล mobility พบว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/2022 อาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนน้อยกว่าที่คาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยวที่ทางการเริ่มนำมาตรการ Test & Go กลับมาใช้แล้วในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้เดิม โดย EIC จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงเดือนต้นมีนาคมนี้

บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/8112

ผู้เขียนบทวิเคราะห์

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th)               นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส                             

   วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th)

นักวิเคราะห์

ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ

รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร. ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน

วชิรวัฒน์ บานชื่น

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ 

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

จงรัก ก้องกำชัย

นักวิเคราะห์

ณิชนันท์ โลกวิทูล

นักวิเคราะห์

ปัณณ์ พัฒนศิริ

นักวิเคราะห์

วิชาญ กุลาตี

นักวิเคราะห์

อสมา เหลี่ยมมุกดา

นักวิเคราะห์