ธพว.ยืนยันผลตัดสินคดี FRCD ไม่กระทบสถานภาพ และสภาพคล่องการเงิน แจงกันสำรองไว้เพียงพอ สามารถดำเนินพันธกิจสนับสนุนเอสเอ็มอีได้ต่อเนื่อง

0
1656

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว.  กล่าวว่า  จากกรณีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)  หรือ SCBT  เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธพว. เรียกชำระเงินตามสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนพื้นฐาน (Cross Currency Swap : CCS)  และสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Swap : IRS)  บนบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรือ Floating Rate Certificates of Deposit (FRCD) ซึ่งกรณีพิพาทดังกล่าวเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 และต่อมาได้ต่อสู้คดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์  โดยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ยกฟ้อง ธพว. ต่อมา SCBT ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  กระทั่งวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ ธพว. ชำระเงินตามฟ้องรวมทุนทรัพย์ฟ้อง 5,597 ล้านบาท ทาง ธพว. จึงใช้สิทธิ์ฎีกา  และที่สุดวันที่ 24 มีนาคม 2563 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาตัดสินให้ยืนตามศาลอุทธรณ์

ธพว. ได้วางแผนกันเงินสำรองล่วงหน้าตั้งแต่มีกรณีพิพาท ทำให้มีเงินทุนสำรองเพียงพอ ดังนั้น  การชำระเงินจึงไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพทางการเงินของ ธพว. แต่อย่างใด   รวมถึง ผู้ฝากเงินหรือเจ้าหนี้ ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ด้วยเช่นกัน   เนื่องจาก ธพว.มีสถานภาพทางการเงินแข็งแกร่ง มั่นคงและมีเสถียรภาพ เพราะเป็นสถาบันการเงินหลักของรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม  มีสถานะความมั่นคงทางการเงิน โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ถึง 99.1758%   อีกทั้ง มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) 10.02%    เกินกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด อีกทั้ง รัฐบาลให้ความสำคัญต่อ ธพว. เพราะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของภาครัฐที่มีหน้าที่หลักในการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ความรู้คู่เงินทุน

ทั้งนี้  ธพว. ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และรายงานงบการเงิน ในรายงานประจำปีของทุกปีที่ผ่านมา

สำหรับการดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าว  ธพว.  ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยบุคคลที่เกี่ยวข้อง และได้ลงโทษไล่ออกพนักงาน 4 ราย รวมถึงยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากได้สรุปผลประการใดจาก ป.ป.ช. ทาง ธพว. จะดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป