ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์​  “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”  จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.18 บาทต่อดอลลาร์

0
1193

ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก อย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป อาจชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่สภาวะถดถอย ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก Bull & Bear Indicator ของ Bank of America ที่อยู่ในระดับต่ำที่สุด 0.0 จุด (Extremely Bearish ซึ่งเป็นสัญญาณซื้อ) โดยในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก ได้ทำให้ผู้เล่นต่างกังวลแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่จะเริ่มทยอยประกาศออกมา โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร (Citigroup, JPM -1.3%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงถูกกดดันจากแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ เช่นกัน นำโดย Amazon -3.2%, Alphabet (Google) -3.1% ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง -1.15%%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.50% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย ทำให้หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อแนวโน้มเศรษฐกิจต่างปรับตัวลดลง อาทิ หุ้นกลุ่มยานยนต์ (Volkswagen -2.7%) หุ้นกลุ่มธนาคาร (Santander -2.1%)

ทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจหลักอาจเข้าสู่สภาวะถดถอยยังคงหนุนให้พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงต่ำกว่าระดับ 3.00% อีกครั้ง สอดคล้องกับมุมมองของเราที่มองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องไม่ได้มาก เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจะยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หรือ รอจังหวะ Buy on Dip ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัว sideways ทว่า เราคาดว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังอาจเผชิญความผันผวนได้ ซึ่งขึ้นกับมุมมองของตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้สูงสุดเท่าใด (Terminal Rate) โดยต้องจับตารายงานเงินเฟ้อ CPI และเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลางในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เดินหน้าแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 108.2 จุด โดยปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์ยังคงเป็นความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของสกุลเงินฝั่งยุโรป ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มมองว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หากรัสเซียยุติการส่งพลังงานให้กับยุโรป กดดันปัญหาพลังงานให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงหากทางการจีนใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดอีกครั้ง ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงใกล้ระดับ 1.00 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงเป็นอุปสรรคที่กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,732 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรป ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจอาจเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอยจากภาวะเงินเฟ้อสูง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงานที่อาจเกิดขึ้น ถ้ารัสเซียยุติการส่งแก๊สให้กับยุโรป โดยตลาดประเมินว่า ปัญหาเงินเฟ้อสูง พร้อมกับภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากขึ้น ทำให้บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันต่างมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป อาทิ เยอรมนี แย่ลงมากขึ้น สะท้อนผ่านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนกรกฎาคมที่จะปรับตัวลดลงหนักสู่ระดับ -38 จุด จาก -28 จุด ในเดือนก่อนหน้า โดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักจะยังเป็นแรงกดดันต่อสินทรัพย์ในฝั่งยุโรป โดยเฉพาะค่าเงินยูโร (EUR) ที่มีโอกาสอ่อนค่าลงต่อเนื่องต่ำกว่าระดับ 1.00 ดอลลาร์ต่อยูโร ได้

นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก่อนที่จะรับรู้รายงานเงินเฟ้อทั่วไป CPI ในวันพรุ่งนี้ เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าได้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงความกังวลแนวโน้มทางการจีนอาจใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ซึ่งเราประเมินว่า แนวรับของเงินบาทในระยะสั้น ยังอยู่ในช่วง 35.90-36.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวต้านสำคัญยังเป็นโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ (มีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้าน หากทางการจีนใช้มาตรการ Lockdown จริง จนเกิดแรงเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia) อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดปลายเดือนนี้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทำให้ยังมีโอกาสที่เงินบาทจะเริ่มกลับตัวมาแข็งค่าได้

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ในช่วงก่อนและหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของสหรัฐฯ เพราะหากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดยังคงจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงในปีนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้ เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ นอกจากนี้ ความผันผวนในตลาดอาจมาในช่วงที่ตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปเช่นกัน (ZEW Economic Sentiment) ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปยังคงแย่กว่าคาดต่อเนื่องก็จะเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินยูโร (EUR) และหนุนเงินดอลลาร์ได้ในระยะนี้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.35 บาท/ดอลลาร์
____________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย