คปภ. จับมืออุตสาหกรรมประกันภัย นำร่องปลูกป่าฟื้นฟูต้นน้ำน่าน กว่า 20,000 ต้น ควบคู่กิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยการเดินทางในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง

0
42

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ผนึกกำลังภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ลงพื้นที่นำร่องรวมพลังปลูกป่าฟื้นฟูต้นน้ำน่าน กว่า 20,000 ต้น รวมมูลค่ากว่า 2,600,000 บาท โดยร่วมกับศูนย์อบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Regional Training Center for Community Forest Asia and Pacific – RECOFTC) ภายใต้โครงการ ต้นไม้ของเรา “Trees 4 ALL” ควบคู่กับรณรงค์ความปลอดภัยการเดินทางในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง ณ จังหวัดน่าน โดยมีนางวิไลวรรณ บุดาสา รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ได้แก่ ภาวะภัยแล้ง สภาพมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ดินถล่ม และอุทกภัยน้ำท่วมทางภาคเหนือ รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อไม่นานมานี้

ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลกระทบระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นความสำคัญของความเสี่ยงภัยจากธรรมชาติ และมีนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมด้าน ESG และมาตรการเชิงป้องกัน Loss Prevention ของอุตสาหกรรมประกันภัย จึงริเริ่มกิจกรรม “รณรงค์ความปลอดภัยการเดินทางช่วงวันหยุดต่อเนื่อง และกิจกรรมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูต้นน้ำน่าน ประจำปี 2568” ณ จังหวัดน่าน เพื่อส่งเสริมความ เป็นเอกภาพของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในการรณรงค์การขับขี่และการเดินทางปลอดภัยและเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงาน คปภ. ในการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อย่างยั่งยืน
สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมแรก ขบวนรถรางรณรงค์ความปลอดภัยการเดินทางช่วงวันหยุดต่อเนื่องรอบอำเภอเมืองน่าน และการมอบหมวกนิรภัยให้แก่ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ รวมจำนวน 300 ใบ จากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด บริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอไอเอ จำกัด กิจกรรมที่สอง นิทรรศการส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัย ของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และเครือข่ายพันธมิตร และกิจกรรมที่สาม การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูต้นน้ำน่าน จำนวนกว่า 20,000 ต้น อาทิ ต้นพยุงและต้นยางนา เป็นต้น รวมมูลค่ากว่า 2,600,000 บาท ผ่านการดำเนินการของศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้โครงการต้นไม้ของเรา Trees 4 All ซึ่งเป็นโครงการอุปถัมภ์ต้นไม้ตั้งแต่การปลูก ติดตามการอยู่รอด รวมถึงการเจริญเติบโตของต้นไม้โดยเกษตรกรในพื้นที่

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า “การจัดกิจกรรมในวันนี้ นับเป็นการบูรณาการกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับมาตรการเชิงป้องกัน Loss Prevention ของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านการประกันภัยและเตรียมพร้อมต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งเป็นการต่อยอดจากกิจกรรมเสวนา สร้างการตระหนักรู้เพื่อรับมืออุทกภัยในยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปัจจุบัน เมื่อปลายปี 2567 และกิจกรรมการเสวนา ตื่นรู้ ปรับเปลี่ยน รับความเสี่ยงภัยจากสภาพภูมิอากาศในโลกใหม่ที่ต้องเผชิญ (Adapting to climate change : New World – New Risk – new Practice) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนของศูนย์ปฏิบัติการด้านการประกันภัย เพื่อบริหารจัดการและช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติ (ศูนย์ ICD) ในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการประกันภัยให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดความรุนแรง จากภัยธรรมชาติ และเห็นถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัย เพราะการมีระบบประกันภัยที่ดีควบคู่กับการ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะช่วยให้สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง พร้อมเผชิญกับวิกฤตในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย