ทิศทางหอการค้าไทย-จีน ปี 2567-2568ตั้งเป้ากระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมณฑลต่าง ๆ ของจีนคาดหวังขยายการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้น

0
177

          เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567นายณรงค์ศักดิ์  พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า ปี 2567 นี้ หอการค้าไทย-จีน ก่อตั้งครบรอบ 114 ปี   ยังคงบทบาทเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ ไทย-จีน ทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมและการสร้างโอกาสเข้าสู่ตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่ กว่า 1,400 ล้านคน

 และจากการที่ประเทศจีน มีนโยบายส่งเสริมการเปิดกว้างระดับที่สูงขึ้นและขยายการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคคุณภาพสูง ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมูลค่า 274.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 1.95 ล้านล้านหยวน) ขยายตัว 1.2% จากปีก่อน

นอกจากนี้ สถิติเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่ามูลค่าของการนำเข้าสินค้าทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นการนำเข้าแบบขายปลีก มีมูลค่าถึง 141.77 พันล้านหยวน ในปี 2566 หรือ เพิ่มขึ้น 7%  เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ดังนั้น หอการค้าไทย-จีน  จึงมีแผนงานที่จะนำผู้ประกอบการไทย-จีน ในประเทศไทย  เข้าร่วมงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติ ครั้งที่ 7  (หรือ CCIE ครั้งที่ 7) ซึ่งในปีนี้ กำหนดที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน ที่ นครเซี่ยงไฮ้  เนื่องด้วยงาน CIIE นี้เป็นมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติเป็นแพลตฟอร์มที่มีความสำคัญมาก  ที่จะสร้างตลาดขนาดใหญ่ของจีนให้กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ของโลก จึงเชื่อมั่นว่าการร่วมงาน CIIE ครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้สินค้าอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักและสามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้สะดวกยิ่งขึ้น

เมื่อปีที่ผ่านมา หอการค้าไทย-จีน เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (หรือ WCEC) ครั้งที่ 16  ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซี่งมีนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลก และจากประเทศไทย ราว ๆ 4,000 คน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย   หลังการระบาดของโควิด-19  หอการค้าไทย-จีน มีโอกาสต้อนรับผู้นำจีนและคณะผู้แทนระดับสูงจากประเทศจีน หลังการจัดประชุม WCEC ครั้งที่ 16  มาอย่างต่อเนื่อง

นายณรงค์ศักดิ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเปิดประเทศของจีน  ได้มีโอกาสนำคณะผู้แทนหอการค้าไทย-จีน  เดินทางไปเศึกษา ดูงานและเข้าร่วมกิจกรรมการประชุม ในมณฑลต่าง ๆ ของจีน เช่น เมืองเซียะเหมิน  มณฑลฝูเจี้ยน / เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง / มณฑลชิงไห่ / นครเซี่ยงไฮ้/  กรุงปักกิ่ง / มณฑลหูเป่ย / มณฑล   ไห่หนาน/ มณฑลยูนนาน /มณฑลเจ้อเจียง /มณฑลกานซู่ เป็นต้น

การที่หอการค้าไทย-จีน มีโอกาสต้อนรับผู้นำจีนและคณะผู้แทนระดับสูงจากจีน และการนำคณะหอการค้าไทย-จีน เยือนมณฑลต่าง ๆ ของจีน นั้น เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และยังเป็นการส่งเสริมการขยายความร่วมมือและโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทย กับมณฑลต่าง ๆ ของจีน

สำหรับทิศทางหอการค้าไทย-จีน ยุคใหม่ นี้  ยังคงทำหน้าที่เป็นสายใยผูกพันความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในทุกมิติ // ช่วยเผยแพร่เรื่องราวดี ๆของประเทศจีน // ในขณะเดียวกันก็แนะนำสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย// ผลักดันกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ // ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีนในประเทศไทย// ผลักดันให้เกิดความร่วมมือในเชิงลึกในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว // รวมถึงการแบ่งปันโอกาสในรูปแบบจีนสมัยใหม่// ส่งเสริมการสร้างโอกาสเข้าสู่ตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่ // และสนับสนุนการสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ บนเส้นทางสายมิตรภาพไทย-จีน สืบต่อไป  นายณรงค์ศักดิ์  กล่าว 

สำหรับการค้าระหว่างประเทศไทยและจีน ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567) ขยายตัว 7.15% มีมูลค่า 17,035 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยไปจีน มีมูลค่า 4,555  ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.01% ส่วนการนำเข้าจากจีน ขยายตัว 10.94% มีมูลค่า 12,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศไทยจึงเป็นฝ่าย  ขาดดุลการค้ากับประเทศจีน 7,925 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้านำเข้าจากจีนที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์  เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์  เป็นต้น

สำหรับสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดจีน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง          เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ยางพารา เป็นต้น