เศรษฐกิจจีนล่มสลาย?

0
271

ดร.ประศาสน์ ตั้งมติธรรม
เมื่อเร็วๆนี้ มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจจีนมากมาย อันที่ออกมาในทางลบมากที่สุดมาจากสถาบันที่น่าจะทรงอิทธิพลทางวิชาการมากที่สุด นั่นก็คือ IMF ที่กล่าวกันว่าเศรษฐกิจจีนจะถึงขั้นขยายตัวลดลงในปี 2023 และ 2024 แม้ว่าจะ -0.2% และ -0.3% ตามลำดับดังรูปที่ 1 แต่ตัวเลขขนาดนี้สำหรับเศรษฐกิจจีนแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ตามสามัญสำนึกที่เคยเห็นแต่เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวเกือบๆ 10% ต่อปีเป็นว่าเล่นในอดีต ถ้าจะกล่าวในเชิงรายละเอียดแล้วสถาบันนี้อาจจะวิเคราะห์ในเชิงภาพใหญ่ แต่ไม่ทราบถึงภาคเศรษฐกิจย่อย ๆ อย่างแน่ชัด
ข้อวิพากษ์วิจารณ์อีกทางมาจากความเห็นต่อการล่มสลายของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีนหลายบริษัทที่ทำให้ผู้บริโภควิตกต่อปัญหาความเสี่ยงในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ทางหนึ่งและที่ทำให้สภาพคล่องในบริษัทเหล่านี้เกิดปัญหาและอาจลามไปถึงบริษัทอื่นๆจนทำให้การลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชลอตัวลงอย่างมาก การวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้อาจมีพื้นฐานของความเป็นจริงอยู่บ้าง กล่าวคือการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของวงการอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 ลดลงหรือ -8.8% ปีต่อปี แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์อาจจะทำไปด้วยเจตนาร้ายหรือไม่มีความรู้ในข้อเท็จจริงเลย กล่าวคือการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนเพียง 17.5% ของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของประเทศเท่านั้น และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของระบบเศรษฐกิจจีนทั้งหมดก็คิดเป็นสัดส่วนราว 43% ของจีดีพีเท่านั้น
ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์โดยใช้ปรากฏการณ์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีนยังขยายความต่อไปว่า เศรษฐกิจจีนจะดำเนินรอยตามเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แตกในราวต้นทศวรรษที่ 1990 และทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้อัตราการขยายตัวที่ต่ำมากๆเป็นระยะเวลา 10-20 ปี จริงอยู่ ปรากฏการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชลอตัวอาจส่งผลโดยรวมต่ออัตราการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม แต่การคิดเช่นนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าภาคเศรษฐกิจอื่นของจีน ไม่ได้มีอัตราขยายตัวมากพอที่จะหักล้างกับการชลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในกรณีของญี่ปุ่น ความคิดเช่นนั้นเป็นจริงเนื่องจากการลงทุนภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศต่างชลอตัวลงภายหลังจากที่ญี่ปุ่นแหกันไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อลดผลกระทบจากเงินเยนมีค่าสูงขึ้นภายหลังพลาซ่าแอ๊คคอร์ด นอกจากนี้การลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานก็อยู่ในระดับสูงสุดและภาคอุตสาหกรรมไม่ได้มีความต้องการสาธารณูปโภคพื้นฐานเพิ่มเติมอีก จากการที่กิจกรรมการผลิตลดลงแต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนไม่ได้เป็นเช่นเดียวกับญี่ปุ่นในต้นทศวรรษที่ 1990 ใน 8 เดือนแรกของปี 2023 นี้ การลงทุนในการผลิตทางอุตสาหกรรมโดยรวมยังคงขยายตัวในอัตรา 5.9% ปีต่อปี นอกจากนี้การลงทุนอื่นๆเช่น อุตสาหกรรมเคมีขยายตัว 13.2% การผลิตรถยนต์ขยายตัว 19.1% เครื่องจักรที่ใช้กำลังไฟฟ้าขยายตัว 38.6% คอมพิวเตอร์ขยายตัว 9.5% การคมนาคมขนส่งขยายตัว 11.3% การผลิตกำลังไฟฟ้าขยายตัว 26.5% การลงทุนในสาขาต่างๆที่กล่าวถึงข้างต้นยังคงอยู่ในอัตราสูงพอที่จะหักล้างได้กับการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ชลอตัวลง
ผู้วิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจจีนบางท่านพุ่งไปที่ระดับการเป็นหนี้ของธุรกิจเอกชนซึ่งอยู่ในระดับราว 170% ของจีดีพี แต่ในแง่นี้ระดับหนี้ของธุรกิจเอกชนสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ดีกว่านี้เท่าใดนัก แต่สิ่งที่สหรัฐอเมริกาเลวร้ายกว่าจีนมากๆก็คือหนี้ของภาครัฐที่อยู่ในระดับราว 110% ของจีดีพี ในขณะที่จีนมีราว 40% เท่านั้น ตัวแสดงใน Chart 2
ข้อวิพากษ์วิจารณ์บางส่วนมุ่งไปที่การส่งออกจีนที่มีอัตราการขยายตัวต่ำและมีความผันผวนมากในช่วงหลังๆ ส่วนนี้อาจจะเป็นความจริงและมีสาเหตุหลักๆ 2 ประการด้วยกันคือ ประการแรกการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอยู่ในระดับสูงจนกระทั่งปี 2015 และลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น ตามปกติแล้วการลงทุนย่อมแสวงหาเป้าหมายให้ต้นทุนต่ำลงและสามารถส่งออกสินค้าเหล่านั้นไปยังประเทศที่เคยขายอยู่เดิมได้ในปริมาณมากขึ้นหรือแข่งขันได้ดีขึ้น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลงย่อมทำให้การส่งออกลดลงด้วย ประการที่สองการที่สหรัฐอเมริกาดำเนินมาตรการทางภาษีต่อสินค้าจีนในอัตราสูง อย่างไรก็ตามอุปสรรคเหล่านี้ไม่ได้ทำให้มูลค่าการส่งออกของจีนลดลง เพียงแต่อัตราการขยายตัวลดลงมากเช่นในปี 2020 เป็นต้น ในการพิจารณาปริมาณการส่งออกนั้นมีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งก็คือสัดส่วนของการส่งออกสุทธิในจีดีพีของจีนนั้นไม่เคยเกิน 10% ของจีดีพี ในปี 2021 อยู่ที่ 2.5% ของจีดีพีเท่านั้น ดังนั้นผลกระทบการส่งออกสุทธิต่อจีดีพีของจีนอยู่ในระดับต่ำมากคล้ายๆกับสหรัฐอเมริกา ทั้งสองประเทศมีสัดส่วนของจีดีพีที่มาจากภายในประเทศสูงมาก แม้ว่าการส่งออกของจีนจะมีอัตราการขยายตัวที่ผันผวนมากในช่วงหลังๆ การกระทบต่ออัตราการขยายตัวของจีดีพีจึงไม่มากเท่าที่ผู้คนทั่วจะไปคาดคิดได้ ดังรูปที่ 2
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ลดลงส่งผลโดยตรงต่อการลงทุนโดยรวมในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลต่อไปให้อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำลงด้วย อัตราการขยายตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีนเคยขยายตัวในอัตรา 20% หรือมากกว่าก่อนปี 2015 แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆลดลงมาจนเหลือราว 5% ในปี 2019 อันเป็นผลเนื่องมาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อยๆลดลง จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบกับปัญหาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ลดลงจนส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำมาตลอด ไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาเช่นนั้น ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำลงจากการลงทุนที่ลดลง แต่ญี่ปุ่นลงทุนในประเทศลดลงเนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ทำให้การลงทุนภายในประเทศหดหายไปตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1990
เมื่อกล่าวถึงสัดส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีอิทธิพลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอย่างรุนแรง ก็จะกล่าวถึงว่าสัดส่วนของการบริโภคภายในประเทศต่อจีดีพีอยู่ที่ 54.5% และสัดส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรต่อจีดีพีอยู่ที่ 43% การบริโภคภายในประเทศตั้งแต่การระบาดของโควิดเป็นต้นมา มีอัตราการขยายตัวที่ผันผวนแต่ยังคงมีอัตราโดยเฉลี่ยอยู่ในราว 5% ต่อปี ในครึ่งปีแรกของปี 2023 อัตราการขยายตัวของการบริโภคที่แท้จริงอยู่ที่ 5.8% ดังนั้นการขยายตัวของการบริโภคจึงเป็นปัจจัยหลักตัวหนึ่งที่ทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีจีนยังคงอยู่ในเกณฑ์บวกพอสมควร นอกจากนี้อัตราการขยายตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใน 8 เดือนแรกอยู่ที่ 3.2% เมื่อประกอบกับทั้งการบริโภคและการลงทุนอันเป็นองค์ประกอบหลักจีดีพีของจีนแล้ว อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2023 จึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5% เมื่อเทียบกับ 5.5% ของครึ่งปีแรก โอกาสที่อัตราขยายตัวของจีดีพีจีนจะติดลบจึงเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง
การแถลงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนจากสื่อตะวันตกในทางลบซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานวิชาการและความเป็นจริง และน่าจะมองได้ว่าเป็นความพยายามสร้างภาพลบและให้ร้ายต่อภาพพจน์ของจีน