เมย์แบงก์ ชี้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตลดหย่อนภาษี แรงขับเคลื่อนสำคัญปี 67-68 แต่ยังมีความท้าทายและไม่แน่นอนอีกเพียบ

0
455

บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ MST เปิดบทวิเคราะห์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ชี้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมออกมาตรการลดหย่อนภาษีใหม่ (“e-Refund”) กระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนและการเติบโตของ GDP ในปี 2567-2568
รัฐบาลได้ประกาศรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมออกมาตรการลดหย่อนภาษีใหม่ (“e-Refund”) โดยมาตรการข้างต้นคาดมีมูลค่ารวม 6 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการกระตุ้นภาคบริโภคในประเทศ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เรานับรวมได้ 13 มาตรการ อาทิ มาตรการคนละครึ่งและมาตรการลดหย่อนภาษี (ช้อปช่วยชาติ ช้อปดีมีคืน ยิ่งใช้ยิ่งได้) โดยมาตรการเหล่านั้นมีสัดส่วนตั้งแต่ไม่ถึง 0.1%-1.39% ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งสองโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นราว 6 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 3% ของ GDP จึงถือว่าเป็นมาตรการกระตุ้นภาคบริโภคครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นต่อการบริโภคภาคเอกชนและการเติบโตของ GDP ในปี 2567-2568 ได้อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตามเรามองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว มีอุปสรรค 2 ประการ ประการแรก ความ ท้าทายทางกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้โครงการถูกยกเลิกทั้งหมดหรือลดขนาดลงอย่างมาก โดยฝ่ายค้านอ้างถึงมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การจัดหาเงินทุนของรัฐ) และมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางการเงินและการคลังของรัฐ (ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อจำกัดในการระดมทุนฉุกเฉิน) ประการที่สอง การกู้ยืมเพื่อสนับสนุนมาตรการดังกล่าวอาจมีมูลค่ารวม 6 แสนล้านบาท (มากกว่า 3% ของ GDP) ซึ่งอาจเผชิญความท้าทายเนื่องจากเงินทุนยังคงไหลออกและสภาพคล่องส่วนเกินที่ลดลงในประเทศไทย
ทีมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ เห็นว่ามาตรการเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทค้าปลีกที่จดทะเบียนทั้งหมด แต่เราเชื่อว่าหุ้นที่ได้ประโยชน์สูงสุดจะอยู่บน 3 เงื่อนไข 1) บริษัทที่สัดส่วนรายได้จากสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary)จะได้ประโยชน์มากกว่ากลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น ( Consumer Staples) 2) บริษัทที่มีสัดส่วนรายได้ธุรกิจค้าปลีกในระดับประเทศสูงจะได้รับประโยชน์มากกว่าบริษัทที่รายได้สัดส่วนจากต่างประเทศ 3) บริษัทที่มีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมทั่วประเทศหรืออยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมากเพื่อรองรับยอดขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้
จากการคัดกรอง 3 เงื่อนไขข้างต้นทำให้เราได้ 2 บริษัทที่เราเชื่อว่าได้ประโยชน์สูงสุดจากมาตราการคือ COM7 และ HMPRO ด้วยร้านค้าเกือบ 1,300 แห่งใน 75 จังหวัด (จาก 76 จังหวัด) COM7 จึงมีเครือข่ายร้านค้าครอบคลุมที่สุดและมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจาก โครงการดิจิทัลวอลเล็ต นอกจากนี้เรายังคิดว่าบริษัทฯ น่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการ ลดหย่อนภาษี เนื่องจากธุรกรรมในการซื้อขายสูงสุดที่ 8,000-9,000 บาท นอกจากนี้ เรายังคิดว่า HMPRO ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดเช่นกัน โดยมีเครือข่าย ครอบคลุมที่สุดในบรรดาผู้ค้าปลีกอุปกรณ์ปรับปรุงบ้าน และมีแนวโน้มที่จะช่วยให้มีรายได้ มากกว่าคู่แข่งจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากมีการดำเนินงานในกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก (เกือบ 1 ใน 3 ของยอดขาย) ซึ่งจะช่วยให้ได้รับประโยชน์จากโครงการลดหย่อนภาษีอีกด้วย