อว. จัดบรรเลงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า เพลงโนรา “ดนตรีศรีวิชัย ดนตรีทีนครศรีธรรมราช”

0
1445

ช่วงค่ำวันนี้ (วันที่ 28 กรกฎาคม 2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเวทีบรรเลงเพลง “ดนตรีศรีวิชัย ดนตรีที่นครศรีธรรมราช”

จากโครงการวิจัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน และโครงการขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการวิจัย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ควบคุมการบรรเลงวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า โดย พันเอก ดร. ประทีป สุพรรณโรจน์
และสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลง โดย ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานฯ นางกฤตษญา ตระขันพฤกษ์ วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวรายงานการจัดงาน นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้บริหาร อว. ผู้บริหารหน่วยงานจังหวัดนครศรีธรรมราช สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ให้เกียรติเข้าร่วมงานศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ขอชื่นชมจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเมืองใหญ่ที่ประเทศสยามหวงแหนตั้งแต่ในอดีตมีขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม และรู้สึกยินดีที่ได้นำ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ศิลปินเอกของประเทศกลับบ้าน เป็นครั้งแรกที่ได้นำดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้ามาจัดแสดงที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช ที่จะเป็นมรดกโลก ขอยกย่อง รศ.ดร.สุกรีฯ ที่ได้ดำเนินการเรื่องดนตรีผสมผสานเพลงเดิมกับเพลงปัจจุบัน สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวนครศรีธรรมราช ที่นำเอาดนตรีที่เกิดจากการวิจัย โดยการสนับสนุนของ วช. มาจัดแสดง และเลือกวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 เพื่อให้งานดนตรี เป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้นำวงดนตรีไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้ามาแสดงที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าได้สร้างสิ่งที่ทรงคุณค่าให้แก่ประเทศไทย ท่านอาจารย์สุกรีเคยกล่าวถึงว่า ผลิตภัณฑ์ทางด้านดนตรีหรือดนตรีพื้นบ้านสามารถสื่อสารออกไปเป็นสินค้าสู่การยอมรับในระดับนานาประเทศโดยผ่านการท่องเที่ยว ผ่านในส่วนของสถานที่สำคัญๆ อย่างเช่น พื้นที่ในสนามบิน บนเครื่องบิน ในร้านอาหารไทยภายในประเทศและร้านอาหารไทยทั่วโลก โรงแรมชั้นหนึ่งทั้งหลาย

ซึ่งเราจะคุ้นเคยกับการเปิดดนตรีสากล การพัฒนาให้เป็นมาตรฐานของสินค้าที่สามารถสื่อสารออกไปสู่สากลได้เป็นวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและสร้างสรรค์ (Soft Power) ในนามของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้ทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทั้งศาสตร์และศิลป์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของงานดนตรี การสร้างสรรค์งานศิลป์ด้านดนตรี ซึ่งในปีนี้ก็เป็นการต่อยอดงานเป็นปีที่ 2 ที่ วช. ได้ให้การสนับสนุน ซึ่งจังหวัด​นครศรีธรรมราช เป็นพื้นประวัติศาสตร์ที่สำคัญหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแสดงดนตรีจากการถ่ายทอดผ่านบทเพลงจะก่อให้เกิดความรื่นรมย์แก่คนในพื้นที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเกิดความสุขใจรื่นรมย์ใจจากการฟังดนตรีได้เป็นอย่างยิ่ง

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่สำคัญในประวัติศาสตร์สยาม เมืองหนึ่งในยุคของศรีวิชัย การนำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้ามาแสดงที่นครศรีธรรมราชในครั้งนี้ เพื่อคารวะครูดนตรีรุ่นเก่า ๆ ที่ได้สั่งสอนลูกศิษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ครูแพ แสงพลสิทธิ์ (โรงเรียนเบญจมราชูทิศ)ครูสุมล ดุริยประพันธ์ (โรงเรียนศรีธรรมราช) อาจารย์นิกร แสงจันทร์ (โรงเรียนเบญจมราชูทิศ) และอาจารย์ยี่สุ่น คงนคร (วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช) ครูดนตรีเหล่านี้ได้สร้างคุณูปการและวางรากฐานทางดนตรี ให้แก่ผู้วิจัยตั้งแต่อายุยังน้อย การได้มาแสดงที่นครศรีธรรมราช จึงได้พยายามศึกษาเรื่องราวของดนตรีที่เป็นรากฐานของวิถีชีวิตในสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นใต้ โดยเฉพาะเพลงดนตรี เครื่องดนตรี และเสียงดนตรี อันเป็นหลักฐานที่สำคัญทาง​ประวัติศาสตร์ เครื่องดนตรีหลักโนรา เพลงของโนรา เครื่องชาตรีหรือเครื่องห้า (โหม่ง ฉิ่ง ปี่ ทับ กรับพวง/แตระ) เพลงปี่โนรา ท่ารำ เครื่องแต่งกายของโนรา หนังตะลุง ในการสืบสานศิลปวัฒนธรรม มโนราห์ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ ผสมผสานกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าได้อย่างตัว

โดยจัดการแสดงที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นโอกาสที่ได้ตอบแทนบุญคุณของบ้านเกิดในการเรียนรู้บริบทของสังคมในวัยเยาว์ คือรากฐานของวิถีชีวิต ในการนำเสนอต่อสังคมใหม่ เป็นการเสนอรูปแบบในการนำเพลงจากเพลงพื้นบ้าน เพลงไทยเดิม เพลงสมัยนิยม เพลงประวัติศาสตร์ และเพลงโบราณ มาต่อยอดและสืบทอดอายุเพลงให้มีชีวิตใหม่ เพื่อให้เป็นที่รู้จักในสังคมไทยและเป็นที่รู้จักของประชาคมนานาชาติ

ทั้งนี้ ในโอกาสนี้ได้จัดการแสดงบรรเลงบทเพลง บทประกาศโรงเชิญครู (ไหว้ครูละครชาตรี) บทไหว้ครูโนราปักษ์ใต้ (พัทลุง) บทเพลงพระราชนิพนธ์ ชุดมโนราห์ เพลงพัดชา เพลงโยสลัม เพลงกราวตะลุง เพลงลาฆูดูวอเพลงบุหงาตันหยง และ เพลงบุหงารำไป เป็นต้น