สสส. แจงรายงานประจำปี 2565 สว. ชื่นชมคะแนนประเมินความโปร่งใสเพิ่ม แต่ห่วงบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าเด็ก-เยาวชน พร้อมขอให้ดำเนินงานป้องกันโรค NCDs อย่างเข้มข้น

0
329

ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญ ครั้งที่ 1) ที่ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารรัฐสภา ชั้น 2 ในวาระรายงานประจำปี 2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 โดยมี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. เป็นผู้ชี้แจง

ศ.เกียรติคุณ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สว. กล่าวว่า ชื่นชมผลการปฏิบัติงานของ สสส. โดยเฉพาะการได้รับคะแนนจากคณะกรรมการประเมินที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ที่ได้ถึง 95% คะแนนการทำงานตามหลักธรรมาภิบาลได้ 96% คะแนนประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ของ ปปช. 93% และมีผลงานเด่นหลายเรื่อง ที่เกิดจากการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ทั้งการควบคุมการบริโภคบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารไม่ดีต่อสุขภาพ และพฤติกรรมเนือยนิ่ง ทั้งที่มีงบประมาณไม่ถึง 1% ของงบประมาณด้านสาธารณสุขของทั้งประเทศ ขอให้ยึดหลักการทำงานหนุนเสริมภาคีเครือข่ายต่อไป โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีเป้าหมายหลักอยู่ที่เด็ก เยาวชน และอยากให้เข้มข้นกับการป้องกันการเกิดโรค NCDs มากขึ้น เพราะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยกว่า 70% ซึ่งจะตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้วย

นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สว. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ ทำให้ได้รับคะแนนประเมินการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ปี 2565 ผลการดำเนินงานในด้านนี้เพิ่มมากขึ้นเป็น 96.7% จากเดิม 92.5% ซึ่งเป็นเรื่องที่หน้ายินดี เพราะองค์กรภาครัฐและทุกองค์กรควรตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงาน

ทั้งนี้อยากให้ สสส.สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ต่อไป เพราะมุ่งสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนตั้งแต่ฐานราก รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาแพทย์ เพื่อให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิมีความเข้มแข็ง และบูรณาการงานความความปลอดภัยทางถนนในเชิงระบบ ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่ระดับชาติ จนไปถึงระดับพื้นที่ ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างแท้จริง

นายอนุศักดิ์ คงมาลัย สว. กล่าวว่า สสส. เป็นฐานของการสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน เป็นกลไกนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ผ่านมา สสส. มีส่วนสำคัญช่วยขับเคลื่อนเสริมระบบสาธารสุข โดยร่วมกับ อสม. สร้างองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจสุขภาพให้ประชาชนผ่านพ้นวิกฤตได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม สสส. ควรต่อยอดโครงการบริโภคผัก ผลไม้ ไปสู่อาหารเพื่อสุขภาพ และเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ในอนาคตอาจมีผลิตภัณฑ์สุราจากชุมชนเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นความท้าทายของ สสส. ในการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะสื่อสาร สร้างสรรค์ สามัคคี เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดีอย่างยั่งยืน และสังคมไทยมีความสันติมีอารยะ