สสส. หนุนภาคีภาคใต้ขับเคลื่อน “โรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ 14 จังหวัดภาคใต้” ชู!! วัด โรงเรียน มัสยิด เป็นพื้นที่ต้นแบบปลอดบุหรี่ เดินหน้าสานพลังพหุวัฒนธรรม เสริมศักยภาพชุมชน ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ ตัดวงจรนักสูบหน้าใหม่

0
513

(วันที่ 15 มกราคม 2566) น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), นายสัตวแพทย์ปกรณ์ สุวรรณประภา ประธานมูลนิธิคนเห็นคน, ผู้นำศาสนา ผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทั้ง 70 แห่ง ร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อน “โรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ 14 จังหวัดภาคใต้” ณ ห้องประชุมโรงเรียนประทีปศาสน์ปอเนาะบ้านตาล ต.กำแพงเซา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันยาสูบยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่บั่นทอนสุขภาวะคนไทย แม้ว่าภาพรวมอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 20.7 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 17.4 ในปี 2564 อย่างไรก็ตามภาคใต้ยังคงมีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดในทุกรอบการสำรวจ คือ ร้อยละ 22.4 โดยกลุ่มอายุที่น่าเป็นห่วงคือเยาวชนอายุ 15-24 ปี “จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. จึงเน้นสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ โดยร่วมกับภาคีในพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อน “โรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ 14 จังหวัดภาคใต้” ซึ่งโรงเรียน “ปอเนาะ” มีรูปแบบการเรียนการสอนตามหลักสูตรสามัญร่วมกับการสอนศาสนา ประกอบกับการอยู่อาศัยแบบโรงเรียนประจำ ทำให้การดำเนินงานด้านการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในโรงเรียนปอเนาะมีความเข้มข้น มีเอกลักษณ์และมีจุดเด่นเฉพาะตัว

ซึ่งเป็นการใช้ 7 มาตรการของโรงเรียนปลอดบุหรี่มาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียน ประกอบด้วย (1) การกำหนดนโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่ (2) การบริหารจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ (3) การจัดสภาพแวดล้อมตามกฎหมายโรงเรียนปลอดบุหรี่ (4) การสอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการจัดการเรียนรู้ (5) นักเรียนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดบุหรี่ (6) การดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่ และ (7) มีกิจกรรมร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพื่อตัดวงจรนักสูบหน้าใหม่ เนื่องจากหากผู้สูบบุหรี่เริ่มตั้งแต่อายุน้อย โอกาสเลิกสูบบุหรี่สำเร็จยิ่งเกิดขึ้นได้น้อย ดังนั้นการแก้ปัญหาตั้งแต่ช่วงที่เป็นเยาวชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง”

น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวอีกว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน “โรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ 14 จังหวัดภาคใต้” ในวันนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือโรงเรียนปอเนาะทั้ง 70 แห่ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้การขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสูบในเยาวชนจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้นำศาสนา ครูผู้สอน ผู้ปกครองและคนในชุมชน เพื่อร่วมกันหาทางออกและทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง โรงเรียนและชุมชนในการเฝ้าระวังไม่ให้เยาวชนเข้าไปสู่วงจรของสิงห์นักอมควันหน้าใหม่ โดย สสส. จะทำหน้าที่ในการเชื่อม สาน และเสริมพลังให้หน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินงานควบคุมยาสูบ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เยาวชนและคนในชุมชน“สสส. โดยสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้สนับสนุนโครงการ “พหุวัฒนธรรมหนุนเสริมศักยภาพชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสุขภาพคนใต้” ภายใต้การรับผิดชอบของมูลนิธิคนเห็นคน ตั้งแต่ปี 2562 โดยมุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ความเชื่อและบริบทในพื้นที่ของภาคใต้

ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้าง สานพลังพหุวัฒนธรรมทั้ง 3 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ร่วมกันขยายพื้นที่และพัฒนาศักยภาพ ให้เกิดศาสนสถานที่ปลอดปัจจัยเสี่ยง ต้นแบบมัสยิดที่พึงประสงค์ด้านการลดปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการดำเนินงานโรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ที่ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

นายสัตวแพทย์ปกรณ์ สุวรรณประภา ประธานมูลนิธิคนเห็นคน กล่าวว่า จากการสำรวจของนักวิชาการประจำโครงการ “พหุวัฒนธรรมหนุนเสริมศักยภาพชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสุขภาพคนใต้” พบว่า นักเรียนของ โรงเรียนปอเนาะ ก็พบพฤติกรรมการสูบบุหรี่มากเช่นกัน อีกทั้งมีบุคคลในครอบครัวเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ยังปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจสูบบุหรี่ของนักเรียน ส่งผลให้สถานการณ์การสูบบุหรี่ยิ่งสูงขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการรณรงค์ให้นักเรียนมีพฤติกรรม ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ให้ได้ในที่สุด และนำไปสู่เป้าหมายการเป็น “ปอเนาะปลอดบุหรี่” จึงนำมาสู่พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้กิจกรรม “ปอเนาะปลอดบุหรี่” ขึ้นเพื่อร่วมกันทำข้อตกลง สร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ เพื่อการขับเคลื่อนปอเนาะปลอดบุหรี่เป็นไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือโรงเรียนปอเนาะ จาก 14 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมบันทึก MOU จำนวน 70 โรงเรียน