การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้จำกัดอยู่แค่คำสอน หากปรากฏชัดในทุกพระราชจริยวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้แต่หลอดสีพระทนต์ที่บางเฉียบเหมือนกระดาษเพราะถูกบีบจนหมด สะท้อนการใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่า เรียบง่าย และเปี่ยมด้วยความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเริ่มได้จากการเปลี่ยนตนเองด้วยใจที่พอเพียง


โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ครั้งที่ 54 ได้เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ครั้งใหม่ ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี “หลอดสีพระทนต์” เป็นจุดเริ่มต้นของบทเรียนสำคัญสู่ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในมิติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น กิจกรรมในครั้งนี้เป็นผลจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอสแห่งประเทศไทย มูลนิธิธรรมดี พร้อมกับองค์กรภาคีเครือข่าย และนับเป็นครั้งแรกที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งบุคลากรกว่า 30 ท่านเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะองค์กรภาคีเครือข่าย เพื่อศึกษาศาสตร์พระราชาอย่างใกล้ชิดและเตรียมนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า “ศาสตร์พระราชา…คือทางออกของโลกใบนี้ เป็นแนวทางที่จะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคง จากภายในสู่ภายนอก” ดร.สมพร ยังเน้นย้ำว่า “ศาสตร์พระราชาคือมรดกทางปัญญาที่ล้ำค่าที่สุดของแผ่นดิน พระองค์มิได้ทรงเพียงประทานแนวทาง หากแต่ทรงอุทิศทั้งชีวิตในการลงมือแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างจริงจัง และยั่งยืนด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรง ‘ทำให้ดู’ ผ่านพระราชจริยวัตรที่เรียบง่าย สมถะ แต่งดงาม และเปี่ยมด้วยความพอเพียง สมควรอย่างยิ่งที่พวกเราคนไทยควรน้อมนำมาเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติโดยรวม”

ภายในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมโครงการได้เยี่ยมชม พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ พิพิธภัณฑ์ด้านทันตกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งจัดแสดงเครื่องมือทันตกรรมในอดีต ตำราหายาก และกรณีศึกษาทางโรคฟันที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และการแพทย์ โดยจุดสำคัญคือ สถานที่จัดแสดง“หลอดสีพระทนต์” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ถูกบีบจนบางเฉียบ กลายเป็นสัญลักษณ์ทรงพลังของ “ความพอเพียง” ที่สะท้อนพระราชจริยวัตรอันเรียบง่าย แต่เปี่ยมด้วยวินัย ความใส่ใจ และความรับผิดชอบต่อทรัพยากร

นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้ถึง พระราชวิสัยทัศน์ด้านสาธารณสุขแบบองค์รวม ซึ่งได้กลายเป็นแนวทางสำคัญของการพัฒนาวิชาชีพและนวัตกรรมทางการแพทย์ในปัจจุบัน โดยพระองค์เคยมีพระราชดำรัสว่า “เวลาออกหน่วย อย่าดูแต่ฟันอย่างเดียว…ให้ดูร่างกายส่วนอื่นๆ รวมถึงการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยด้วย ถ้าน้ำไม่มี จะให้เขาแปรงฟันวันละสองครั้งได้อย่างไร ถ้าไม่มีถนน จะมาหาทันตแพทย์ปีละสองครั้งได้อย่างไร”
พระราชดำรัสนี้ ชี้ให้เห็นแนวคิดแบบองค์รวม (Holistic Approach) ที่เป็นหนึ่งในหัวใจของ ศาสตร์พระราชา นั่นคือการเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งรอบด้าน มองเห็นความเชื่อมโยงของสาเหตุ และบูรณาการแนวทางการแก้ไขให้เข้ากับบริบทของผู้คนอย่างแท้จริง จากแนวคิดนั้นเอง ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับการพัฒนาในวงการทันตแพทย์ไทยยุคใหม่ จนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ทันตนวัตกรรม” ทั้งในแง่ของ แนวคิด และเทคโนโลยี ทำให้เกิดการพัฒนาด้านการให้บริการ และนวัตกรรม เช่น รากฟันเทียมสำหรับผู้สูงวัยในชนบท การคิดค้นเยลลี่บำรุงฟันสำหรับเด็กที่เข้าถึงยาก น้ำยาบ้วนปากที่ไม่ต้องใช้น้ำตาม หรือแม้กระทั่งระบบการให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ที่เข้าไปหา “ผู้มีปัญหา” แทนที่รอให้เขาเดินทางมาหาเรา
จากแนวคิดนั้นเอง ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับการพัฒนาในวงการทันตแพทย์ไทยยุคใหม่ จนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ทันตนวัตกรรม” ทั้งในแง่ของ แนวคิด และ เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารากฟันเทียมสำหรับผู้สูงวัยในชนบท การคิดค้นเยลลี่บำรุงฟันสำหรับเด็กที่เข้าถึงยาก น้ำยาบ้วนปากที่ไม่ต้องใช้น้ำตาม หรือแม้กระทั่งระบบการให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ที่เข้าไปหา “ผู้มีปัญหา” แทนที่รอให้เขาเดินทางมาหาเรา
จากนั้น คณะผู้เข้าร่วมเดินทางต่อไปยังวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร ซึ่งเป็นเสมือนสวนป่าธรรมะกลางมหานคร จัดสร้างตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้รับการขนานนามว่า “สวนป่าศาลาพระราชศรัทธา” เป็นสถานที่ที่แม้จะถูกโอบล้อมด้วยตึกสูงและห้างสรรพสินค้าหรูหรา แต่กลับเปี่ยมไปด้วยความสงบและร่มรื่นจากแมกไม้ใหญ่ และได้รับการสืบสานเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการเจริญสติในปัจจุบัน ทางคณะได้กราบนมัสการพระแสง และพระไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ศิลปะล้านช้างและสุโขทัย ที่ประดิษฐานมาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 4 กราบสักการะพระเจดีย์แห่งราชสกุลมหิดล และเข้าชมพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่จัดแสดงประวัติและเครื่องใช้ส่วนตัวของพระอริยสงฆ์ผู้เป็นศูนย์รวมศรัทธาของสายพระกรรมฐาน ก่อนเข้าสู่ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด นั่นคือการได้เข้าถึงหัวใจของศาสตร์พระราชา ผ่านการเจริญธรรม การนั่งสมาธิ และสวดมนต์ ณ สวนป่าศาลาพระราชศรัทธา
นอกจากนี้ ทางโครงการยังจัดให้มีการสัมมนาและเวิร์กช็อปเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้า centralwOrld โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแบ่งปันความรู้ อาทิ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตีผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี และอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผู้คิดค้นนวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 หรือ Interactive Board Game หนึ่งเดียวในโลก เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030
ทางโครงการยังได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคม ได้แก่ การมอบทุนการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดีให้แก่นักเรียนในพื้นที่ การมอบหนังสือจากโครงการ “อมรินทร์อาสา อ่านพลิกชีวิต” เพื่อส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนที่มีความต้องการอีกด้วย
ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งต่อไปสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊ก: ตามรอยพระราชา-The King’s Journey โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้