ถุงมือยางไทย : โอกาสในปี 2021 และความท้าทายหลัง COVID-19

0
1230

 

  • การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงยืดเยื้อในหลายภูมิภาคทั่วโลกในปัจจุบัน จะส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2021 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการถุงมือยางไทย และมาเลเซีย โดย EIC มองว่า ในปี 2021 จะยังคงเป็นตลาดของผู้ประกอบการถุงมือยาง (Seller’s market) ซึ่งแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบอย่างน้ำยางข้น แต่ตลาดโลกยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางในปริมาณมาก ทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถปรับขึ้นราคาขายถุงมือยาง และรักษาอัตรากำไรไว้ได้
  • สำหรับในปี 2022 เป็นต้นไป น่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากความต้องการใช้ถุงมือยางสำหรับตรวจหาผู้ติดเชื้อ และรักษาผู้ป่วย COVID-19 ไปสู่การใช้ถุงมือยางสำหรับฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งแม้จะยังคงมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมากอยู่ แต่การฉีดวัคซีนป้องกันจะเป็นการใช้ถุงมือยาง 2 คู่/ผู้ได้รับวัคซีน 1 คน ขณะที่การใช้ถุงมือยางสำหรับรักษาผู้ป่วย COVID-19 จะต้องใช้อย่างต่อเนื่อง และยืดเยื้อมากกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2022 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2020 และ 2021 และอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยเผชิญภาวะกำลังการผลิตถุงมือยางสูงเกินความต้องการมาก
  • สำหรับในระยะต่อไป การบริหารจัดการต้นทุนด้านวัตถุดิบ และราคาขายถุงมือยางถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ จากแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะทำให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่น
    และยางแท่งเพื่อผลิตยางรถยนต์มากขึ้น และอาจส่งผลให้มีการขาดแคลนน้ำยางข้นเพื่อผลิตถุงมือยาง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการผลิตถุงมือยางพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การปรับราคาขายถุงมือยางตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะทำได้ยากมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตถุงมือยางโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก จากการเร่งขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการถุงมือยางไทย และมาเลเซียในปัจจุบัน
  • การลงทุนหรือการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินมากเกินไป
    หากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยผู้ประกอบการถุงมือยางอาจกระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตถุงมือยางสำหรับภาคอุตสาหกรรม และถุงมือยางสำหรับครัวเรือน รวมถึงการพัฒนาคุณสมบัติถุงมือยางเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับถุงมือยางได้ นอกจากนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่ประเทศคู่ค้าอาจหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า เช่น สวัสดิการแรงงาน มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศพัฒนาแล้ว ก็เป็นประเด็นที่
    ทุกภาคส่วนของไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อลดอุปสรรคด้านการค้าในอนาคต

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงยืดเยื้อในหลายภูมิภาคทั่วโลกในปัจจุบัน จะส่งผลให้ปริมาณ

การใช้ถุงมือยางโลกในปี 2021 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ว่า ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2021 มีแนวโน้มอยู่ที่ 420,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 17% จากปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 360,000 ล้านชิ้น ประกอบกับในเดือนมีนาคม 2021 COVID-19 ได้กลับมา
แพร่ระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้งในหลายประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือยางโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงในปีนี้ นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการผลิตและส่งออกถุงมือยางไปยังตลาดโลก โดยในไตรมาสแรกของปี 2021 ปริมาณการส่งออกถุงมือยางไทยอยู่ที่ 6,494 ล้านคู่ ขยายตัว 23% จากช่วงเดียวกันของปี 2020 ขณะที่มูลค่าการส่งออกถุงมือยางไทยอยู่ที่ 1,069 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 230% จากช่วงเดียวกันของปี 2020 นับเป็นการขยายตัว
อย่างโดดเด่นต่อเนื่องจากปี 2020

รูปที่ 1 : ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลก

หน่วย : พันล้านชิ้น

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA)

 

รูปที่ 2 : มูลค่า และปริมาณการส่งออกถุงมือยางไทย

หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ล้านคู่

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา U.S. Customs and Border Protection (CBP) ได้ประกาศยุติการนำเข้า
ถุงมือยางจากทุกโรงงานของบริษัท Top Glove ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 1 ของมาเลเซีย และของโลก
จากประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน หลังจากที่ในเดือนกรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา CBP ได้ประกาศยุติการนำเข้าถุงมือยางจาก 2 โรงงานของบริษัท Top Glove มาแล้ว จากประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น การใช้แรงงานเด็ก เอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ การทำงานที่เป็นอันตราย สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม

EIC มองว่า สถานการณ์ดังกล่าว น่าจะเป็นอานิสงส์ให้ผู้ประกอบการถุงมือยางไทยส่งออกถุงมือยางไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2021 เป็นต้นไป และมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งตลาด
ถุงมือยางในสหรัฐอเมริกาได้ จากปัจจุบันที่สหรัฐอเมริกานำเข้าถุงมือยางจากไทยคิดเป็นสัดส่วน 15% ของปริมาณการนำเข้าถุงมือยางโดยรวม
รูปที่ 3 : ปริมาณการนำเข้าถุงมือยางของสหรัฐอเมริกา*

หน่วย : ล้านคู่

หมายเหตุ : *ครอบคลุมถุงมือยางใช้ในทางศัลยกรรม และถุงมือยางอื่น ๆ

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Trade Map 

ผู้ประกอบการถุงมือยางไทย และมาเลเซียยังคงขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2020 ที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตถุงมือยางโลกเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากผู้ผลิตไทย และมาเลเซียที่เร่งขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้ถุงมือยางที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และสำหรับในปี 2021 นี้ ผู้ประกอบการถุงมือยางไทยก็ยังคงขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยกำลังการผลิตถุงมือยางของไทยโดยรวมจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านชิ้น และจะทำให้ไทยมีกำลังการผลิตถุงมือยางโดยรวม ณ สิ้นปี 2021 ไม่ต่ำกว่า 56,000 ล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 22% จากปี 2020 ซึ่งนอกจากจะเป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการถุงมือยางรายใหญ่ของไทยแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังมาจากการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ทั้งไทย และต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผลิตถุงมือยางในไทยมากขึ้นอีกด้วย

ขณะเดียวกันบริษัท Top Glove ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยาง
รายใหญ่อันดับ 1 ของมาเลเซีย และของโลก ก็ขยายกำลังการผลิตถุงมือยางอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางอีก 19,000 ล้านชิ้นในปีนี้
คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 110,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 21% จากปี 2020 เช่นเดียวกับ Hartalega ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 2 ของมาเลเซีย ที่วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางอีก 19,000 ล้านชิ้นในปีนี้ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตรวม 63,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 43% จากปีก่อนหน้า การขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ดังกล่าว จะส่งผลให้กำลังการผลิตถุงมือยางของมาเลเซียโดยรวมในปี 2021 ไม่ต่ำกว่า 250,000 ล้านชิ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่ากว่า 60% ของความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกในปี 2021
รูปที่ 4 : กำลังการผลิตถุงมือยางของผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลก

หน่วย : ล้านชิ้น/ปี

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของรายงานประจำปี

EIC มองว่า ในปี 2021 จะยังคงเป็นตลาดของผู้ประกอบการถุงมือยาง (Seller’s market) ซึ่งแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบน้ำยางข้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ตลาดโลกยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมาก ทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถปรับขึ้นราคาขายถุงมือยาง และรักษาอัตรากำไรเอาไว้ได้ ทั้งนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2020 ที่อยู่ในภาวะซบเซา ส่งผลให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่น และยางแท่งเพื่อผลิตยางรถยนต์ลดลง โดยสัดส่วนการนำยางพาราไปผลิตยางยานหาหนะของไทยในปี 2020 ลดลงมาอยู่ที่ 49% ของปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ จากในอดีตที่สัดส่วนการนำยางพาราไปผลิตยางยานหาหนะของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 60% ของปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ สวนทางกับความต้องการนำน้ำยางข้นไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตถุงมือยางที่เพิ่มสูงขึ้น โดยนับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลให้สัดส่วนการนำยางพาราไปผลิตถุงมือยางของไทยในปี 2020 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13% ของปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ เทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 10% ของปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ

ทั้งนี้ความต้องการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นน้ำยางข้นเพื่อผลิตถุงมือยางที่มากขึ้นดังกล่าว ยังไม่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำยางสดในปี 2020 เนื่องจากภาวะหดตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่น และยางแท่งเพื่อผลิตยางรถยนต์ลดลง และมีการแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้นเพื่อผลิตถุงมือยางแทน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำยางข้นในปี 2020 ปรับตัวสูงขึ้น โดยนอกจากจะได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้ถุงมือยางที่ขยายตัวแล้ว ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ยังได้รับปัจจัยหนุนจากราคายางพาราในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ที่ทำให้ความต้องการใช้ยางพาราเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามมา

รูปที่ 5 : ปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ

หน่วย : แสนตัน

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร

รูปที่ 6 : ราคาน้ำยางข้น ราคาน้ำยางสังเคราะห์ และราคาส่งออกถุงมือยางไทย   

หน่วย : บาท/กก., ดอลลาร์สหรัฐ/พันคู่

หมายเหตุ : *ราคาขายน้ำยางข้น F.O.B. สงขลา        

              **ราคา NBR latex

              *** ราคาส่งออกเฉลี่ย

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC และสถาบันพลาสติก

EIC มองว่า ราคาน้ำยางข้นในปี 2021 จะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้อีกมาก โดยราคาเฉลี่ยล่าสุด

ในเดือนมีนาคม 2021 อยู่ที่ 50.1 บาท/กก. ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากในเดือนธันวาคม 2020 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 42.8 บาท/กก. ซึ่งสถานการณ์ราคาน้ำยางข้นที่ปรับตัวสูงขึ้นดังกล่าว ได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตถุงมือยางปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม EIC มองว่า ในปี 2021 นี้ จะยังเป็นตลาดของผู้ประกอบการถุงมือยาง (Seller’s market) ซึ่งแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบอย่างน้ำยางข้น แต่ตลาดโลกก็ยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมาก ทำให้ผู้ประกอบการถุงมือยางยังสามารถปรับราคาขายถุงมือยางขึ้นได้ และรักษาอัตรากำไรเอาไว้ได้ สะท้อนได้จากราคาส่งออกถุงมือยางไทย ที่ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19

ทั้งนี้ความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำยางข้นถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการถุงมือยางในปีนี้ โดยปริมาณผลผลิตยางพาราไทยในปีนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ 4.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2020 ที่ปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ จะทำให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่น และยางแท่งเพื่อผลิตยางรถยนต์มากขึ้น และนำมาซึ่งความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำยางข้น ซึ่งยังเป็นที่ต้องการทั้งสำหรับการใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตถุงมือยางในประเทศ และการส่งออกในรูปวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตถุงมือยางในมาเลเซีย ท่ามกลางสถานการณ์
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับในปี 2022 เป็นต้นไป น่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากความต้องการใช้ถุงมือยางสำหรับตรวจหาผู้ติดเชื้อ และรักษาผู้ป่วย COVID-19 ไปสู่การใช้ถุงมือยางสำหรับฉีดวัคซีนป้องกัน ในเดือนมีนาคม 2021 COVID-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้งในหลายประเทศ ประกอบกับปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว ตามการยกระดับบริการภาคสาธารณสุขทั่วโลก การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เช่น อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้ถุงมือยางในกระบวนการผลิตสินค้า อย่างไรก็ดี จากการเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในหลายประเทศในปีนี้ น่าจะส่งผลให้การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มบรรเทาลง โดย EIC มองว่า ในปี 2022 เป็นต้นไป ความต้องการใช้ถุงมือยางจะเปลี่ยนผ่านจากการใช้สำหรับตรวจหาผู้ติดเชื้อ และรักษาผู้ป่วย COVID-19 ไปสู่การใช้ถุงมือยางสำหรับฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งแม้จะยังคงมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมากอยู่ แต่การฉีดวัคซีนป้องกันจะเป็นการใช้ถุงมือยาง 2 คู่/ผู้ได้รับวัคซีน 1 คน ขณะที่การใช้ถุงมือยางสำหรับรักษาผู้ป่วย COVID-19 จะต้องใช้อย่างต่อเนื่องและยืดเยื้อมากกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2022 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2020 และ 2021 ซึ่งอยู่ที่ 21% และ 17% ตามลำดับ สถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยเผชิญภาวะกำลังการผลิตถุงมือยางสูงเกินความต้องการมาก รวมถึงการส่งออกถุงมือยางไทยมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตถุงมือยางโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก จากการเร่งขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการไทย และมาเลเซียในปัจจุบัน

สำหรับในระยะต่อไป การบริหารจัดการต้นทุนด้านวัตถุดิบ และราคาขายถุงมือยางถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ จากแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะทำให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่น และยางแท่งเพื่อผลิตยางรถยนต์มากขึ้น และอาจส่งผลให้มีการขาดแคลนน้ำยางข้นเพื่อผลิต
ถุงมือยางตามมา ยิ่งไปกว่านั้น สภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในไทยที่มีมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ทั้งภัยแล้งซึ่งทำให้ผลผลิตน้ำยางสดลดลง และฝนตกหนักซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยางจะยิ่งซ้ำเติมให้ภาวะขาดแคลนน้ำยางสดรุนแรงขึ้น และดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่มีผลผลิตออกมาน้อย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การปรับราคาขายถุงมือยางตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะทำได้ค่อนข้างยากในระยะต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตถุงมือยางโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก จากการเร่งขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการถุงมือยางไทย และมาเลเซียในปัจจุบัน ข้อจำกัดดังกล่าวจะทำให้อัตรากำไรของผู้ประกอบการถุงมือยางลดลง แตกต่างจากสถานการณ์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ถึงปี 2021 ซึ่งแม้ราคาน้ำยางข้นปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ตามความต้องการใช้ถุงมือยางที่ขยายตัว และราคายางพาราในตลาดโลก
ที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังเป็นตลาดของผู้ประกอบการถุงมือยาง (Seller’s market) โดยผู้ประกอบการถุงมือยางไทยและมาเลเซียสามารถปรับเพิ่มราคาถุงมือยางตามต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น และรักษาอัตรากำไรเอาไว้ได้ เนื่องจากตลาดโลกยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมากจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

อีกทั้ง ในระยะต่อไป หากการแข่งขันส่งออกถุงมือยาง
ในตลาดโลกรุนแรงมากขึ้นในระดับที่เกิดภาวะการแข่งขันด้านราคา แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจยิ่งซ้ำเติมให้ถุงมือยางไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออก และสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกถุงมือยางให้กับมาเลเซียได้ โดยค่าเงินริงกิตมาเลเซียเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าสะสมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา นับเป็นความท้าทายต่อการส่งออกถุงมือยางไทยที่สำคัญ
ในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน
รูปที่ 7 : การเปลี่ยนแปลงค่าเงินเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

หน่วย : ดัชนี (มกราคม 2014 = 100)

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg

ดังนั้น การลงทุนหรือการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางของผู้ประกอบการไทยควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินมากเกินไป หากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
โดยผู้ประกอบการถุงมือยางอาจกระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตถุงมือยางประเภทอื่น ๆ เช่น ถุงมือยางสำหรับภาคอุตสาหกรรม ถุงมือยางสำหรับครัวเรือน นอกเหนือไปจากถุงมือยางทางการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาคุณสมบัติถุงมือยางเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น เช่น น้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ทนความร้อนหรือสารเคมีได้ดีขึ้น
ลดความอับชื้นระหว่างสวมใส่ รวมไปถึงการปรับสูตรการผลิตเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่แพ้สารโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับถุงมือยางได้

นอกจากนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff Barriers : NBTs) ที่ประเทศคู่ค้าอาจหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า ก็เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อลดอุปสรรคด้านการค้าในอนาคต เช่น ประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ที่สหรัฐอเมริกาได้ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการแบนการนำเข้าถุงมือยางจากผู้ประกอบการบางรายในมาเลเซียแล้ว รวมถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศพัฒนาแล้ว ก็เป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบการถุงมือยางไทยต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยางที่ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษา
ขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

บทวิเคราะห์จาก… https://www.scbeic.com/th/detail/product/7565

ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ (kanyarat.kanjanavisut@scb.co.th

                      นักวิเคราะห์อาวุโส

                        Economic Intelligence Center (EIC)
                        ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
                        EIC Online : www.scbeic.com
                      Line : @scbeic

 

Disclaimer: The information contained in this report has been obtained from sources believed to be reliable. However, neither we nor any of our respective affiliates, employees or representatives make any representation or warranty, express or implied, as to the accuracy or completeness of any of the information contained in this report, and we and our respective affiliates, employees or representatives expressly disclaim any and all liability relating to or resulting from the use of this report or such information by the recipient or other persons in whatever manner. Any opinions presented herein represent our subjective views and our current estimates and judgments based on various assumptions that may be subject to change without notice, and may not prove to be correct. This report is for the recipient’s information only. It does not represent or constitute any advice, offer, recommendation, or solicitation by us and should not be relied upon as such. We, or any of our associates, may also have an interest in the companies mentioned herein.