ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.19 บาทต่อดอลลาร์

0
384

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.15 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ) ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่ปิดรับความเสี่ยง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ ซึ่งต่างถูกนักวิเคราะห์ทยอยปรับลดคำแนะนำการลงทุน จากความกังวลผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ ความงุ่นวายของสถานการณ์การเมืองรัสเซียก็มีส่วนทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ทำให้โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.45%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลงต่อ -0.10% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว จากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองรัสเซีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็มีส่วนกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนผันผวนในกรอบ sideway โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดยังคงเผชิญความผันผวน ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.7 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.6-102.8 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นบางส่วนเริ่มกังวลว่า ทางการญี่ปุ่นอาจเข้ามาแทรกแซงค่าเงินได้ ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซน 1,940-1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิ ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้ง ECB และเฟด

นอกจากนี้ ปัจจัยการเมืองรัสเซียก็จะเป็นอีกสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองรัสเซียก็อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบไม่ต่างจากวันก่อนหน้า เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ในช่วงท้ายสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองรัสเซียก็อาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ ทำให้เงินดอลลาร์ยังพอมีแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยและทำให้เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน

อนึ่ง เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้เราประเมินว่า หากไม่มีปัจจัยลบมากดดันเพิ่มเติม เงินบาทก็ไม่น่าจะอ่อนค่าทะลุกรอบ 35.40-35.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ต้นสัปดาห์ไปได้ง่ายนัก

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.30 บาท/ดอลลาร์