ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์

0
418

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนของการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.12% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนพฤษภาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.1 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ดีกว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนคลายความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาลดลง -0.60% หลังการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -6.5%, LVMH -5.0%) ท่ามกลางความกังวลว่าหากเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนไม่ได้ดีตามคาด ก็อาจกดดันให้ผลประกอบการของบรรดาหุ้นสินค้าแบรนด์เนมไม่ได้เติบโตแข็งแกร่งอย่างที่สะท้อนมาในราคาหุ้นล่าสุด (Hermes P/E 58.9x, LVMH P/E 29.8x)

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่ามุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดหวังว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยได้นานกว่าคาดหรืออาจจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จะช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 3.75% แต่ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ กอปรกับ แรงซื้อ buy on dip ของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.70% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจเป็นไปอย่างจำกัดในช่วงนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด แต่ทว่า การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงถูกจำกัดอยู่ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเน้นขายทำกำไร ในจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น (สอดคล้องกับมุมมองที่เราเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า) โดย ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.5 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ท่ามกลางความกังวลการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) รีบาวด์ขึ้นต่อเนื่อง 1,978 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนที่ได้เข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนเมษายน โดยเรามองว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ยังคงอยู่ที่ระดับสูงถึง 8.1% ตามที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ แม้ว่าจะเป็นการชะลอลงจากระดับ 10.1% ในเดือนก่อนหน้า แต่อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงดังกล่าว อาจหนุนให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนแตะระดับ 4.75% ได้ในปีนี้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนี ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo Business Climate) ซึ่งมักจะเป็นข้อมูลเศรษฐกิจที่สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจได้ดี

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญใหม่ใกล้ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก่อนที่เงินบาทจะค่อยๆ พลิกกลับมาแข็งค่าตามโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นไม่น้อยกว่า +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนเงินดอลลาร์ก็แกว่งตัว sideways ทั้งนี้ เรามองว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว อาจได้แรงหนุนจากการขายทำกำไรสถานะ Short THB ของผู้เล่นบางส่วน และคาดว่าการทดสอบแนวต้านใหม่ของเงินบาท (ซึ่งเป็นแนวต้าน Fibonacci retracement เช่นกัน) ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเริ่มกลับมา Long THB บ้าง

เรามองว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจดำเนินต่อไปได้บ้าง แต่การแข็งค่าอาจเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าจะเริ่มเห็นการกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยเราประเมินว่า โซนแนวต้านจะเป็นแนวต้านใหม่ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ที่เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุไปได้ ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่ในช่วง 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า ผู้นำเข้าบางส่วนอาจมีความกังวลหลังเงินบาทอ่อนค่าเร็วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้นำเข้าอาจทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง ซึ่งจะชะลอโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทได้

ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.70 บาท/ดอลลาร์