ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.04 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น​ จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.53 บาทต่อดอลลาร์ (จากระดับปิด ณ วันที่ 3 พฤษภาคม)

0
1186

ตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างที่ตลาดได้กังวลในช่วงก่อนหน้า โดยเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตามคาดและประกาศแผนการลดงบดุลเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะเพิ่มอัตราการลดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในเดือนกันยายน นอกจากนี้ ประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปมากอย่างที่ตลาดกังวลในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ประธานเฟดระบุว่า เฟดอาจสามารถขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่เฟดให้ความสำคัญในตอนนี้

แรงหนุนจากการคลายความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นถึง +3.19% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +2.99% ซึ่งนับเป็นการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังรับรู้ผลการประชุมเฟดที่ร้อนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี อย่างไรก็ดี เรามองว่า ทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนด้วย โดยหากรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทยอยออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดมีการรีบาวด์ได้ในระยะสั้น แต่ทว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องระวังคือ การทยอยถอนสภาพคล่องออกจากตลาดของบรรดาธนาคารกลาง ผ่านการลดงบดุลของเฟดและการทยอยลดการทำคิวอีของธนาคารกลางอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลลบต่อตลาดหุ้นได้

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป รายงานผลประกอบการบริษัทที่ออกมาแย่กว่าคาด และความกังวลปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีนที่อาจกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ได้กดดันให้ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลง -0.96% นำโดยหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่ส่วนใหญ่มีรายได้หลักมาจากจีน อาทิ Hermes -2.3%, Kering -1.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปอาจรีบาวด์ขึ้นได้บ้างในวันนี้ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมพร้อมกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดกังวล

ทางด้านตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวผันผวนพอสมควร โดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3.00% ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ก่อนที่จะย่อตัวลงแตะระดับ 2.94% หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่า จุดสูงสุดของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ น่าจะอยู่แถว 3.00% และผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวมากขึ้น หากประเมินว่า เฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยไปมากและ Terminal Rate จะอยู่ในช่วง 3.00%-3.25%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ผลการประชุมเฟดที่เป็นไปตามคาดและเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปมาก ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ลง (Sell on Fact) กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 102.5 จุด จากที่แกว่งตัวเหนือระดับ 103.3 จุด ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด นอกจากนี้ แนวโน้มเฟดไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย ที่ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ปรับตัวลง ยังได้หนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 1,895 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำได้บ้าง และบางส่วนอาจรอลุ้นให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้าน 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเพิ่มสถานะถือครอง เพื่อลุ้นการปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ นอกเหนือจากผลการประชุมเฟด ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมธนาคากลางอังกฤษ (BOE) โดยตลาดประเมินว่า BOE อาจมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.00% เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ BOE อาจประเมินว่าการเติบโตเศรษฐกิจอาจชะลอลง แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้ BOE ทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ในอนาคต

ส่วนในฝั่งเอเชีย นักวิเคราะห์มองว่า ผลกระทบจากการใช้มาตรการ Zero COVID ของทางการจีน เพื่อควบคุมการระบาดโอมิครอนจะกดดันให้ภาคการบริการซบเซาหนัก โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Caixin Services PMI) เดือนเมษายนอาจลดลงสู่ระดับ 40 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) ส่วนในฝั่งไทยนั้น เรามองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนเมษายน อาจชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนสู่ระดับ 5.4% หลังราคาสินค้าพลังงานทรงตัว ทว่าราคาอาหารส่วนใหญ่อาจปรับตัวสูงขึ้น (ระดับราคาสินค้าโดยรวม +1.1%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) จะอยู่ที่ระดับ 2.0% ทั้งนี้ เราคาดว่าระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่กดดันให้ ธปท. ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางอื่นๆ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ายังไม่ได้กระจายเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่ดีกว่าคาดอาจพอช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุน หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ตาม แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทยังคงอยู่ อาทิ ความไม่แน่นอนของสงครามที่จะกดดันสกุลเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หากยุโรปตัดสินใจคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย หรือ รัสเซียยุติการส่งออกพลังงานไปยังยุโรป นอกจากนี้ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ก็มีโอกาสที่จะกดดันสกุลเงินฝั่งเอเชียและทำให้ นักลงทุนยังไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น EM Asia ในระยะสั้น ทำให้ เรามองว่า เงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะเริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยและบอนด์ไทยมากขึ้นหรือไม่ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยง

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาท/ดอลลาร์

______________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย