ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.99 บาทต่อดอลลาร์

0
391

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าปริมาณการซื้อ ขาย อาจเบาบางลง เนื่องจากตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด วัน Martin Luther King Jr. ทว่า บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อเนื่อง โดยในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.46% ทำจุดสูงสุดในรอบ 9 เดือน ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ผู้เล่นในตลาดคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดประเทศของจีน (China’s Reopening)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้รีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 102.3 จุด โดยส่วนหนึ่งอาจได้แรงหนุนจากการขายทำกำไรสถานะ Short USD vs สกุลเงินอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากการที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าแตะระดับ 128.4 เยนต่อดอลลาร์ หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้าเงินเยนญี่ปุ่นได้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้ ผู้เล่นในตลาดก็ต่างรอผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรก่อนรับรู้ผลการประชุมได้บ้าง นอกจากนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ย่อตัวลงสู่ระดับ 1,915-1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำ ทำให้อาจมีโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวเกิดขึ้นและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มผลกระทบของการระบาด COVID-19 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ต่อภาพรวมเศรษฐกิจจีน โดยตลาดคาดว่า การระบาด COVID-19 ในช่วงปลายปีก่อนหน้า จะกดดันให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 ชะลอลงชัดเจน โดยเศรษฐกิจอาจขยายตัวเพียง +1.6%y/y ทำให้ทั้งปี เศรษฐกิจจีนอาจโตน้อยกว่า +3.0%y/y ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนธันวาคมก็อาจสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาหนัก อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) อาจหดตัวถึง -9%y/y และอัตราการว่างงาน (Jobless Rate) ก็อาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 5.8%

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า ฤดูหนาวของยุโรปที่อุ่นกว่าปกติ ทำให้ปัญหาขาดแคลนพลังงานหรือวิกฤตพลังงานไม่ได้เลวร้ายมาก ซึ่งภาพดังกล่าวได้สะท้อนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปในช่วงที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดและตลาดก็คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมกราคม ก็อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -15 จุด จากระดับ -23.3 จุด ในเดือนธันวาคม สะท้อนมุมมองของบรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในฝั่งสหรัฐฯ อาทิ Goldman Sachs และ Morgan Stanley

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การผันผวนอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา หลังแข็งค่าแตะระดับ 32.71 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงระหว่างวัน โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และแรงขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB ของผู้เล่นในตลาด อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า เงินบาทก็ไม่ได้อ่อนค่ารุนแรงต่อเนื่อง จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่า ในวันนี้ สกุลเงินฝั่งเอเชียอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากตลาดเริ่มขายทำกำไรธีมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับความหวังการเปิดเมืองของจีน โดยเฉพาะในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาซบเซาหนักและแย่กว่าคาดไปมาก ซึ่งอาจเห็นแรงขายหุ้นจีนและหุ้นฮ่องกงออกมาบ้าง พร้อมกับการอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินหยวน (CNY & CNH)

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า สกุลเงินเอเชียโดยรวมและเงินบาทจะไม่ได้อ่อนค่าไปมากและยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ sideways เพราะยังมีโอกาสที่สกุลเงินเอเชียอาจได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปออกมาดีกว่าคาดและช่วยให้เงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.10 บาท/ดอลลาร์