เกษตรกรมันสำปะหลัง หวั่นราคาตก ทวงถามรัฐ

0
1825

เกษตรกรกลุ่มมันสำปะหลังโคราช หวั่นเดือดร้อนหนักปีหน้า คาดผลผลิตลดกระทบ MOU ส่งออกไทยสู่จีน มูลค่ากว่า 1.8 หมื่นล้านบาท และเสียตลาดการส่งออกอันดับหนึ่งของโลกมูลค่ากว่าแสนล้านให้คู่แข่ง เหตุจากแบนสารเคมีเกษตร ทำให้ผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนเพิ่ม สวนทางวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 มุ่งพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม กลับล้าหลังส่งเสริมเกษตรไทยใช้จอบ แรงงานคนถางหญ้า

นายภมร ศรีประเสริฐ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังโคราช เปิดเผยว่า “มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญเกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า 7 แสนครัวเรือน ผลผลิตประมาณ 27-30 ล้านตัน ใช้ภายในประเทศเพียงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือร้อยละ 70 ส่งออกไปยังตลาดโลก สร้างรายได้เข้าประเทศ มูลค่ารวมเกือบสามแสนล้านบาท โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับหนึ่งของโลก ส่งออกไป 3 ตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน ร้อยละ 57 อาเซียน ร้อยละ 16 และญี่ปุ่นร้อยละ 11 การควบคุมต้นทุนและผลผลิตเป็นสิ่งจำเป็น ช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันได้มากในตลาดโลก เมื่อต้นทุนการผลิตต่ำลง ทำให้ต้นทุนการแปรรูปที่ลดลง สร้างรายได้เข้าประเทศและให้เกษตรกรได้มากขึ้นด้วย”

เกษตรกร ผิดหวังกับภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยจาก 2 พรรคใหญ่ ผิดหวังกับกระทรวงพาณิชย์ ผิดหวังกับข้าราชการกรมวิชาการเกษตรที่ไม่มีความรู้และไม่คิดปกป้องเกษตรกรและประเทศชาติ เมินเสียงเกษตรกร เพราะเดือดร้อนจึงต้องออกมาคัดค้าน เกษตรกรมองเห็นผลกระทบที่ชัดเจน หากยังยืนยันจะยกเลิกสารพาราควอต ทุกท่านที่เกี่ยวข้องต้องหามาตรการมาช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูกาลปลูกปีนี้ เพราะทุกพืชจำเป็นต้องใช้สารพาราควอตตลอดทั้งปี จะช่วยลดต้นทุนอย่างไร อย่ามาบอกว่า จะของบ จัดทำงบประมาณฉุกเฉิน เพราะเป็นความคิดล้าสมัยของการเมืองแบบโบราณ และขอเรียกร้องไปยังสมาคมมันสำปะหลังและโรงงานให้เตรียมตัวรับผลกระทบ หากไม่มีมันสำปะหลังเข้าโรงงานและเปิดช่องให้มีข้ออ้างการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศอื่น

นายวชิระ ถนัดค้า ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กล่าวว่า “การแบนสารเคมีเกษตร พาราควอต อยากให้ภาครัฐพิจารณาอีกครั้ง ขอให้ยึดแนวทางการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด เนื่องจากเกษตรกรมันสำปะหลังได้รับผลกระทบมายาวนาน ยังเป็นปัญหาวนเวียนที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ ตั้งแต่ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตกลับตกต่ำ เหตุจากปัญหาภัยแล้ง ศัตรูพืช วัชพืช แรงงานที่ราคาสูง และหายาก แถมด้วยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ยิ่งทำให้แย่ไปใหญ่ จึงอยากให้รัฐบาลไตร่ตรองให้มากกว่านี้ ไม่ใช่อะไรก็แจกเงินตามมาตรการชดเชย เพราะเงินที่แจกนั้นไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัวและการลงทุนเพื่อสร้างผลผลิตในอนาคต ควรแก้ปัญหาระยะยาวในภาคการเกษตร เช่น จัดการต้นทุนภาคเกษตรให้ต่ำลง พัฒนาผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจเกษตรกรไทย

นอกจากนี้ เกษตรกรกลุ่มมันสำปะหลัง อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา ได้แสดงความเห็นถึงรัฐบาลว่า ก่อนการเลือกตั้งสัญญากับเกษตรกรว่า เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ชีวิตเกษตรกรจะดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจก็ไม่ดีตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว ราคามันสำปะหลังก็ไม่ดี เจอวิกฤตภัยแล้งอีก เกษตรกรก็อยู่แทบจะไม่รอดแล้ว ยังจะมาเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยให้ใช้สารเคมีเกษตรตัวอื่นที่มีราคาแพงและก็ยังไม่รู้ว่าจะปลอดภัยกับเกษตรกรและผู้บริโภคมากขนาดไหน ที่สำคัญเกษตรกรมีประสบการณ์ด้วยตัวเองกับสารพาราควอตที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และไม่มีสารอื่นแทนได้ เกษตรกรจึงมีคำถามว่าการแบนนี้เอื้อประโยชน์ใคร หนทางที่เกษตรกรเห็นตรงกันคือ การอบรมและส่งเสริมการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและก่อให้เกิดประโยชน์ยั่งยืนกว่า เพราะไม่ใช่แค่  พารา ควอต สารเคมีเกษตรทุกตัวล้วนอันตราย เกษตรกรจะได้ใช้ทุกตัวได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยต่อตนเองและผู้บริโภค

“เกษตรกรชาวไร่มัน ยังจำเป็นต้องใช้ พาราควอต เนื่องจากเป็นสารฯเพียงตัวเดียวที่ไม่มีสิ่งใดมาทดแทน เพราะไม่ใช่สารดูดซึม ไม่สะสมในหัวมัน ส่วนการใช้เครื่องจักรกล ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองต้องลงมาดูความจริงในพื้นที่จากเราด้วย หากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ และ นายจุลินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ จะมาดูพื้นที่จริงและถางหญ้าในแปลงมันสำปะหลังเพื่อศึกษาข้อเท็จจริง เกษตรกรมันสำปะหลังยินดีต้อนรับ แต่ท่านควรมาลงพื้นที่จริงก่อนการแบนจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้” เสียงของเกษตรกรกลุ่มมันสำปะหลังกล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

กลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
126 หมู่ 3 ถนนราชสีมา-โชคชัย ก.ม. 6
ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนคราชสีมา 30000 ประเทศไทย