ในวันนี้ (วันที่ 29 เมษายน 2564) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS) ได้ร่วมกันเปิดตัวการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยของ 2 ประเทศ เป็นครั้งแรกของโลก ได้แก่ ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของประเทศไทย และระบบเพย์นาว (PayNow) ของประเทศสิงคโปร์ การเชื่อมโยงระบบในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือและการทำงานอย่างเข้มแข็งของทุกฝ่าย ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกลางสิงคโปร์ ผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคาร และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ
ในระยะแรก ผู้ใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมให้บริการ จะสามารถโอนเงินระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ได้ในจำนวนไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 25,000 บาท ต่อวัน ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมให้บริการ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอน และไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลอื่นเหมือนบริการโอนเงินระหว่างประเทศทั่วไป เช่น ชื่อ-นามสกุล และรายละเอียดของบัญชีผู้รับโอน บริการนี้จะช่วยให้ผู้โอนสามารถโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และทำได้ทุกที่ทุกเวลาเสมือนกับการโอนเงินภายในประเทศด้วยหมายเลขโทรศัพท์ผ่านพร้อมเพย์หรือเพย์นาว โดยการโอนใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที เร็วกว่าการโอนเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 1 – 2 วัน
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการได้ตกลงร่วมกันให้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของพร้อมเพย์ – เพย์นาว ถูกกว่าการโอนเงินในรูปแบบปัจจุบันและแข่งขันกับบริการโอนเงินระหว่างประเทศอื่นในตลาดได้ โดยผู้ใช้บริการจะเห็นค่าธรรมเนียมและอัตราแลกเปลี่ยนก่อนตัดสินใจโอนเงิน
พร้อมเพย์ – เพย์นาว ยังถือเป็นหนึ่งในผลงานสำคัญภายใต้ความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ซึ่งริเริ่มจากการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนในปี 2562 และสอดคล้องกับแนวทางของประเทศในกลุ่ม G20 Financial Stability Board และองค์กรที่ออกมาตรฐานสากลอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการชำระเงินระหว่างประเทศให้มีความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย และโปร่งใสมากขึ้น นอกจากนี้ ธปท. และ MAS มีความตั้งใจที่จะขยายผลของการบริการพร้อมเพย์ – เพย์นาว ทั้งการเพิ่มจำนวนธนาคารที่ให้บริการ และการขยายวงเงินการโอนเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในอนาคต
นายระวี เมนอน (Mr. Ravi Menon) กรรมการผู้จัดการ MAS กล่าวว่า “พร้อมเพย์ – เพย์นาว เป็นความพยายามริเริ่มร่วมกันที่ทำให้เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินและภาคธนาคารมีศักยภาพรองรับการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศอย่างไร้รอยต่อ เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับลูกค้ารายย่อย ซึ่งพร้อมเพย์ – เพย์นาว ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดย MAS และ ธปท. มีเป้าประสงค์ร่วมกันที่จะต่อยอดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไปสู่ระดับอาเซียนต่อไป ในยุคที่เศษฐกิจดิจิทัลกำลังเติบโต เราต้องการเสริมศักยภาพให้ลูกค้ารายย่อยและภาคธุรกิจสามารถทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างประเทศได้ง่าย รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยเพียงปลายนิ้ว”
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า “ด้วยความสำเร็จของระบบพร้อมเพย์ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศไทย ธปท. มีความตั้งใจที่จะยกระดับการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านความร่วมมือกับประเทศอาเซียนและประเทศอื่น ๆ โดยได้พัฒนาบริการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านคิวอาร์โค้ดกับประเทศญี่ปุ่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม การเชื่อมโยงระบบพร้อมเพย์ – เพย์นาว ในวันนี้เป็นอีกก้าวสำคัญในการมุ่งสู่การชำระเงินยุคดิจิทัลของไทย บริการจากความร่วมมือของ MAS และ ธปท. นี้ จะช่วยแก้ปัญหาที่มีมานานในการโอนเงินระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องระยะเวลานานในการทำธุรกรรม และต้นทุนที่สูง ในระยะต่อไป ธปท. จะยังคงผลักดันนวัตกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศและโครงสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับการ บูรณาการทางการเงิน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประเทศและภูมิภาคอาเซียน”
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Monetary Authority of Singapore
29 เมษายน 2564
เอกสารแนบ : ธนาคารที่ให้บริการ พร้อมเพย์ – เพย์นาว
ธนาคารที่ให้บริการในช่วงแรก มีดังนี้
ธนาคารที่ให้บริการในประเทศสิงคโปร์ | ธนาคารที่ให้บริการในประเทศไทย |
|
|
ผู้ใช้บริการที่ประสงค์จะใช้บริการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านธนาคารที่ให้บริการข้างต้น จะได้รับประโยชน์ ดังนี้
- สะดวก: ผู้ใช้บริการสามารถโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอน และไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลอื่นเหมือนบริการโอนเงินระหว่างประเทศทั่วไป เช่น ชื่อ-นามสกุล
- รวดเร็ว: การโอนเสร็จสิ้นภายในเวลาประมาณ 1-2 นาที รวดเร็วกว่าการโอนเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง
- ราคาแข่งขันได้กับบริการโอนเงินระหว่างประเทศอื่น: ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการได้ตกลงร่วมกันให้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินและอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในระดับที่ถูกกว่าการโอนเงินในรูปแบบปัจจุบันและแข่งขันกับบริการโอนเงินระหว่างประเทศอื่นในตลาดได้ โดยผู้ใช้บริการจะเห็นค่าธรรมเนียมและอัตราแลกเปลี่ยนก่อนตัดสินใจโอนเงิน