ศวก.ที่ 12 สงขลา จัดประชุมสัมมนาผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประจำปี 2568 เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ชูผลงานวิจัย “กระท่อม”

0
43


เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา (ศวก.ที่ 12 สงขลา) จัด “ประชุมสัมมนาผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธี และ นายอัศวชัย ช่วยพรหม ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา เป็นผู้กล่าวรายงาน ท่ามกลางผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน จากหน่วยงานสาธารณสุข ภาครัฐ เอกชน และแขกผู้มีเกียรติ อาทิ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา และตัวแทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ ได้กล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงบทบาทของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะหน่วยงานสำคัญที่ดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคและชันสูตรโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสถานการณ์โควิด-19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มุ่งพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับเทคนิคชีวโมเลกุลขั้นสูง สำหรับการตรวจคัดกรองโรคที่มีความแม่นยำสูง เช่น มะเร็งปากมดลูก วัณโรค ธาลัสซีเมีย และมะเร็งเต้านม “การรับฟังความต้องการของผู้ใช้บริการทั้งจากภาครัฐและเอกชน คือหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนางานบริการที่ยั่งยืน ช่วยลดค่าใช้จ่าย และสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้กับประชาชน” นายแพทย์บัลลังก์กล่าว

ไฮไลต์สำคัญของการประชุม คือการบรรยายเรื่อง “ผลงานเด่นและนวัตกรรมกระท่อม” โดย ดร.วีระชัย พิพัฒน์รัตนเสรี เภสัชกรชำนาญการพิเศษ ซึ่งได้นำเสนอผลสำเร็จของ ศวก.ที่ 12 สงขลา ในการวิจัยและพัฒนาพืชกระท่อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาวิธีการสกัดสารสำคัญ (Mitragynine และ 7-hydroxymitragynine) ที่สามารถต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรได้ถึงปีละประมาณ 50,000 บาทต่อไร่ ไปจนถึงการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการให้สามารถตรวจวิเคราะห์สารสำคัญ Mitragynine ในพืชสด สารสกัด และในผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ และที่สำคัญคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดกระท่อมที่มีฤทธิ์ลดริ้วรอย ต้านการอักเสบ และมีแผนจะพัฒนาเป็นยาใหม่ในอนาคต

นอกจากนี้ นางปาณิศา เชาวนะกิจ รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ได้นำเสนอภาพรวมการให้บริการของศูนย์ฯ และแนวทางการปรับปรุงบริการ เช่น การลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการส่งตรวจ การเปิดบริการใหม่ และการส่งเสริมการใช้ระบบ iLabPlus เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงผลตรวจ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความน่าเชื่อถือของผลการตรวจที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล และให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา
ศูนย์ฯ ยังได้นำเสนอแนวทางบริการเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น การตรวจวิเคราะห์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประสบอุทกภัย และโครงการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs

การประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ในการเป็นองค์กรที่ไม่หยุดนิ่ง พร้อมรับฟังเสียงจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรมและยกระดับการบริการให้ทันต่อสถานการณ์ และตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างแท้จริง