วช. ผนึกกำลังเครือข่ายจังหวัดลำปางและจังหวัดตาก “มุ่งเป้าอนาคตไทยเพื่ออากาศสะอาด” เดินหน้าวิจัย-นวัตกรรม ขจัดฝุ่น PM2.5

0
27

วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และกิจกรรม “มุ่งเป้าอนาคตประเทศไทย” ผนึกพลังขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเด็นประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุม โดย

ภายในงานมีเครือข่ายผู้บริหาร ประกอบด้วย นายกฤษณะ พินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายสาธิต มณฑาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก) นายสุรชัย แสงศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง นางสาวปิยธิดา ถิระรณรงค์ เจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิเคราะห์นโยบายและแผนงานวิจัยการเกษตร ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ผู้บริหารส่วนจังหวัดลำปางและจังหวัดตาก ผู้บริหาร วช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะนักวิจัย ณ โรงแรมทรีทารา จังหวัดลำปาง

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึง วช. และหน่วยงานเครือข่ายเพื่อร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือ “มุ่งเป้าอนาคตประเทศไทยเพื่ออากาศสะอาด” ผนึกพลังขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยมีจังหวัดลำปางและจังหวัดตากเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญร่วมดำเนินการ คือ

  1. ลดจำนวน Hostpot (จากแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 จากการเผาในที่โล่ง) ที่ไม่ได้รับอนุญาตไม่ให้เกิน 5,000 จุด/ปี ของพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด
  2. ลดจำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ไม่เกิน 50 วัน/ปี ของพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด
  3. ลดจำนวนสถิติผู้ป่วย COPD ที่แอดมิทครั้งแรกจากสาเหตุฝุ่น ไม่ให้เกิน 1,000 คน/ปี ของพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด
    โดยดำเนินการผ่านการบูรณาการงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และประชาสังคม มุ่งหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ภายในงาน ได้มีการกล่าวจุดมุ่งหมายของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ โดย

  1. นายกฤษณะ พินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
  2. นายสาธิต มณฑาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
  3. นางสาวปิยธิดา ถิระรณรงค์ เจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิเคราะห์นโยบายและแผนงานวิจัยการเกษตร ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
  4. นายพิษณุพล ประสาน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
  5. นางจิตรี จิวะสันติการ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
  6. นางศิริพร ปัญญาเสน ประธานเครือข่ายฟ้าใส ลมหายใจลำปาง
  7. นายวิเชษฎ ขาวละออ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ผู้แทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก
  8. นายวิฑูรย์ ภู่ชินาพันธุ์ กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดตาก ผู้แทนประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดตาก
  9. นายอารักษ์ อนุชปรีดา ประธานสภาลมหายใจจังหวัดตาก
    ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลง “มุ่งเป้าอนาคตไทยเพื่ออากาศสะอาด” มีเป้าหมายเพื่อบูรณาการข้อมูลวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในการแก้ปัญหา PM2.5 ในจังหวัดลำปางและจังหวัดตาก เชื่อมโยงผลงานวิจัยของ วช. กับความต้องการในพื้นที่ และร่วมจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วมลงนามเพื่อขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศ

พร้อมนี้ มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) จังหวัดลำปาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง และสภาลมหายใจจังหวัดลำปาง และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จังหวัดตาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก สภาวัฒนธรรมจังหวัดตาก และสภาลมหายใจจังหวัดตาก ในการมุ่งเป้าอนาคตประเทศไทยเพื่ออากาศสะอาด ด้วยวิจัยและนวัตกรรมของจังหวัดลำปาง และจังหวัดตาก

นอกจากนี้ ยังมีการหารือแนวทางการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่าย “การขับเคลื่อนมุ่งเป้าอนาคตประเทศไทยเพื่ออากาศสะอาด” โดย นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้แทน ผู้อำนวยการแผนงาน “ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5 (เป้าหมาย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน)” ผู้บริหารส่วนราชการในจังหวัดลำปางและจังหวัดตาก ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และคณะนักวิจัย

ทั้งนี้ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ ววน. ในประเด็น “ประเทศไทยปลอดภัยจาก PM2.5” โดยมุ่งเน้นการบูรณาการข้อมูลจากงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างตรงจุดในพื้นที่จังหวัดลำปางและตาก เป็นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น และประชาสังคม เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน