“หมอหทัย” หวั่น! ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ย้ำจุดยืน คัดค้าน AOT เสนอแก้กฎหมายสร้างห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน นักวิชาการ ชี้สนามบินในไทยเคยพบ ค่าฝุ่นPM2.5 พุ่งสูง 532.5 ไมโครกรัม เกินค่ามาตรฐาน 21 เท่า เสี่ยงสุขภาพประชาชนทุกคนในสนามบิน

0
43


เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2568 นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า จากกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เตรียมเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขแก้กฎหมาย เพื่ออนุญาตให้สามารถสร้างห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารเทียบเครื่องบินรอง (SAT-1) สนามบินสุวรรณภูมิ

ซึ่งได้รับรางวัลจาก UNESCO เป็นสนามบิน 1 ใน 6 ที่สวยที่สุดในโลก ประจำปี 2567 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ได้มีมติไม่เห็นด้วยในการแก้ไขกฎหมายให้มีการสร้างห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารสนามบิน และได้มอบหมายให้มีคณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาผู้โดยสารที่สูบบุหรี่ด้วยวิธีการอื่น ที่ไม่ใช่การสร้างห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารสนามบินขึ้นมาใหม่

ทั้งนี้ ไทยได้ยกเลิกกฎหมายห้องสูบบุหรี่ในสนามบินมานานถึง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อคุ้มครองสุขภาพของทุกคนจากอันตรายของควันบุหรี่มือสอง และเป็นนโยบายที่สนับสนุนและสอดคล้องต่อเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
“ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและขอคัดค้านการแก้กฎหมายเพื่อให้ไทยกลับมามีห้องสูบบุหรี่ในอาคารสนามบินอีก การแก้ปัญหาเรื่องนี้ ควรจัดสถานที่สูบบุหรี่อยู่นอกอาคารสนามบิน ซึ่งกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและกำหนดสถานที่ไว้ให้แล้ว AOT จึงไม่ควรถอยกลับไปสู่สภาพการเป็นแหล่งผลิตมลพิษทางอากาศทำร้ายสุขภาพประชาชน ทั้งผู้เดินทาง และผู้ที่ปฏิบัติงานภายในอาคารสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งได้รับรางวัลจาก UNESCO เป็นสนามบิน 1 ใน 6 ที่สวยที่สุดในโลก ประจำปี 2567” นพ.หทัย กล่าว

รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า จากผลการศึกษาวัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในห้องสูบบุหรี่ภายในสนามบินนานาชาติของไทย จากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ปี 2556 มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 532.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดค่ามาตรฐานแนะนำไว้เพียง 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรภายใน 24 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า ห้องสูบบุหรี่ มีระดับฝุ่น PM2.5 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 21 เท่า บ่งชี้ว่า ห้องสูบบุหรี่ในอาคารสนามบินจะเป็นพื้นที่เสี่ยง ต่อสุขภาพของพนักงานและผู้ใช้บริการสนามบินโดยรอบ แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่เองก็ตาม


“มีหลักฐานชัดเจนว่าในอดีตธุรกิจยาสูบพยายามแทรกแซงการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ รวมทั้งสนามบินด้วย โดยเฉพาะสนามบินนานาชาติเซนต์หลุยส์ แลมเบิร์ต รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1990 ขณะนั้นกำลังพัฒนาเป็นสนามบินปลอดบุหรี่อย่างสมบูรณ์ แต่กลับถูกแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบต่อต้านให้สร้างห้องสูบบุหรี่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงแทน ถือเป็นการขัดขวางการบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสนามบินหลักๆ ของสหรัฐฯ และบิดเบือนข้อมูลด้านสุขภาพเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทบุหรี่” รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าว