สวพส. จัดการน้ำบนพื้นที่สูง…เปลี่ยนชีวิตชุมชน…สู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

0
27

แม้ฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 5 – 10 (ข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา 13 พ.ค. 2568) แต่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะได้ประโยชน์จากฝนที่ตกมากขึ้นโดยเฉพาะชุมชนบนพื้นที่สูง ที่บริบทพื้นที่ทำกินส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งยังคงต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นแหล่งน้ำหลัก ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ชุมชนเหล่านี้มักเผชิญกับปัญหาฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งซ้ำซาก ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศหรือสภาวะโลกเดือด

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็กมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน และกระจายน้ำให้เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง ไม่เพียงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่ยังมุ่งสร้างระบบจัดการน้ำที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมไปถึงการฟื้นฟูดูแลรักษาป่ารอบๆ แหล่งน้ำ

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรกว่า 24,000 ราย ในพื้นที่สูง 458 แห่งทั่วประเทศ ได้รับประโยชน์โดยตรง เข้าถึงแหล่งน้ำที่พัฒนาแล้ว 930 แห่ง มีระบบกระจายน้ำ 412 กิโลเมตร ทั้งแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ไม่เพียงแค่มีน้ำใช้ตลอดปี แต่ยังสามารถเพิ่มรายได้กว่า 447 ล้านบาท ในปี 2567 จากผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พืชผัก ไม้ผล หรือกาแฟคุณภาพสูง

การมีแหล่งน้ำที่เพียงพอยังช่วยให้เกษตรกรปรับตัวสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ลดความเสียหายจากภัยแล้งและรักษาคุณภาพของผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันเกษตรกรเริ่มหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแต่มูลค่าสูง โดยไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกหรือบุกรุกพื้นที่ป่าแต่อย่างใด ผลที่ตามมาอย่างเป็นรูปธรรม คือ พื้นที่ป่าต้นน้ำได้รับการฟื้นฟูกลับคืนกว่า 526,000 ไร่ จากการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้เศรษฐกิจที่หลากหลายถึง 58 ชนิด ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการจัดการของชุมชนในพื้นที่

การจัดการแหล่งน้ำยังมีส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน จากการติดตามจุดความร้อนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง (ม.ค. – พ.ค. 2568) พบว่า จุดความร้อนในพื้นที่เกษตรลดลงถึง 57.21% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมากกว่า 68% ของกลุ่มบ้านที่เข้าร่วมโครงการไม่พบจุดความร้อนเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในปีงบประมาณ 2568 สวพส. ยังคงเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จโดยขยายโครงการไปยัง 49 ชุมชน ครอบคลุมอีก 127 แห่ง พร้อมระบบกระจายน้ำที่เพิ่มขึ้นเกือบ 20 กิโลเมตร มีผู้ได้รับประโยชน์เพิ่มอีก 460 ราย ครอบคลุมพื้นที่เกษตรรวมกว่า 5,120 ไร่ และการดูแลป่าต้นน้ำอีก 13,000 ไร่

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กไม่ใช่แค่การรับมือภัยแล้ง แต่คือการสร้างโอกาสให้ชุมชนมีน้ำใช้ มีอาหาร มีรายได้ และมีชีวิตที่มั่นคงมากขึ้น เป้าหมายของเราคือแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่สูงอย่างเร่งด่วน

โดยเฉพาะในชุมชนที่ยังต้องพึ่งพาน้ำฝน ทั้งเพื่อการดำรงชีวิตและการเกษตร เมื่อชุมชนมีแหล่งน้ำเพียงพอ ก็สามารถพัฒนาระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้อย่างยั่งยืน และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและทุกภาคส่วน เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากชุมชน