J&C ทะลวงโอกาสพลิกเกมโต!! รุกคืบด้วยกลยุทธ์ Push & Pull

0
2260

แม้การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสตัวร้าย “Covid-19” จะกลายเป็นวิกฤติระดับโลกที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับคนทั่วโลกและทั่วทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบเป็นโดมิโนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นด้วยมุมมองที่พร้อมแสวงหาโอกาสใหม่ๆของบอสใหญ่ “ดร.สมชาย หัชลีฬหา” ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัทยักษ์ขายตรงโมเดิร์นเทรด จอยแอนด์คอยน์ฯ (J&C) ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าวิกฤติจะเป็นอย่างไร ก็มักนำพาโอกาสมาให้ด้วยเช่นกัน หากสามารถปรับตัวปรับเปลี่ยนธุรกิจได้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสามารถเรียนรู้ในการมองหาโอกาสให้เจอว่าโอกาสอยู่ตรงไหน เหมือนโอกาสใหม่ๆที่มีอยู่เสมอในธุรกิจ J&C โดยเฉพาะการมีแพลตฟอร์มที่พรั่งพร้อมคู่ขนานไปกับการมีระบบหลังบ้าน (suppy chain) ที่พร้อมรองรับธุรกิจให้สามารถดำเนินต่อแม้ในสภาพแวดล้อมโรคระบาด และการมีระบบ e-Payment, e-Wallet ให้สมาชิกทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมคนให้มีงานทำ Work From Home ใช้บ้านเป็นร้านค้า JC i-Mart ใช้ดิจิทัลในการสร้างรายได้

“ทุกครั้งที่มีวิกฤติ (Crisis) เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็จะวนเวียนใน 4 เรื่อง ทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ, ภัยจากเชื้อโรคและโรคระบาด, ภัยจากเศรษฐกิจ, ภัยจากนโยบายระหว่างประเทศที่ขัดแย้งกัน แต่ไม่ว่าวิกฤติจะเป็นอย่างไรก็มักนำมาซึ่งโอกาสได้อยู่เสมอถ้าสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจได้ทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญคือการเรียนรู้ที่จะต้องมองหาโอกาสให้เจอว่าโอกาสอยู่ตรงไหน ในทางกลับกันถ้ามองไม่ออกก็จะมองไม่เห็นโอกาสใดๆเลย” 

ดร.สมชาย กล่าวและว่า ณ ขณะนี้ ธุรกิจขายตรงออฟไลน์ส่วนใหญ่จะตกโดยเฉลี่ย 50% หรือบางรายมากกว่า 50% ก็มี แต่ในส่วน J&C นับตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกก็สามารถเติบโตขึ้น 10% ขณะที่ไตรมาส 2 ชะงักไป 2 เดือน (เมษายน-พฤษภาคม) จากวิกฤติโควิด-19 อาจส่งผลให้ตกลงมาไม่เกิน 15% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามยังต้องรอดูไตรมาส 3 ก่อนว่าฟื้นขึ้นมาแค่ไหน ถ้าฟื้นหรือเสมอตัวก็คงติดลบเล็กน้อยแค่ 3-5% ซึ่งจริงๆถ้าไม่มีวิกฤติโควิด-19 ก็เชื่อมั่นว่าปีนี้ธุรกิจ J&C จะเติบโตขึ้นอีก 10%

แต่กระนั้นก็ตามเพราะด้วยการเตรียมตัวเตรียมพร้อมทางธุรกิจ J&C มาด้วยดีทั้งการมีแพลตฟอร์มก็ดี, การมีระบบ e-Payment, e-Wallet ก็ดี, การทำระบบหลังบ้าน ระบบโลจิสติกส์ที่สามารถรองรับด้วยดี ดังนั้นพอปรับคนให้เปลี่ยนจากบอกต่อมาเป็นบอกผ่านระบบออนไลน์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คก็ทำให้สามารถเดินหน้าต่อได้ ส่วนกลยุทธ์ที่เลือกใช้ภายใต้วิกฤติ Covid-19 ที่เกิดขึ้นนั้นบางเรื่องก็ขยายก็จะใช้กลยุทธ์การเติบโต เช่น การทำแฟรนไชส์ JC i-Mart ซึ่งยังเติบโตอยู่ แต่บางเรื่องอาจต้องลดอย่างกรณีการทำระบบออฟไลน์การทำสาขาก็ลดจำนวนและตรงไหนไม่ก่อเกิดรายได้ก็ต้องตัดออกหรือย่อขนาดลงมาพร้อมๆกับการไปเพิ่มช่องทางออนไลน์ ช่องทางแฟรนไชส์แทน เป็นต้น 

บอสใหญ่ J&C ยอมรับถึงการปรับตัวในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างรวดเร็วอีกด้วยว่า การสรรหาสินค้าใหม่ๆคือสิ่งจำเป็นแต่ไม่ควรลงทุนเยอะเกินไปเพราะถ้ามีสต็อกเยอะแล้วขายไม่หมดนั่นหมายความว่ามองระยะยาวเกินไปในขณะที่ตลาดเป็นตลาดระยะสั้นเนื่องจาก Lifecycle มันสั้นลงทำให้การบริหารความเสี่ยงในเรื่องของสินค้า ช่องทางสินค้าและเป้าหมายลูกค้าอาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอดเวลา ดังนั้นการทำเรื่อง Product Development กับ Segment Development เป็นสิ่งสำคัญสำหรับ J&C ที่ต้องทำควบคู่กันไป  

“เราเน้นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเป็นหลักมาตลอด ช่วงหลายปีที่ผ่านมาพอมีสถานการณ์แบบนี้ เราก็มีความพร้อมเตรียมไว้อยู่แล้ว และเมื่อตลาดเปิดโอกาสยิ่งขึ้นก็ใช้กลยุทธ์ผสม (Push and Pull Strategy) เป็นหัวใจ ยิ่งในส่วน Push Strategy นั้นเรียกได้ว่าเราทำมาเยอะพอสมควรโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีในการผลักดันตลาด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาใช้ แชทบอท (Chatbot) การใช้ AI (Artificial intelligence)  การทำ Data analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ดูแนวโน้มเป็นอย่างไรและดูพฤติกรรมผู้บริโภคต้องการอะไร ซึ่งสร้างความได้เปรียบได้เป็นอย่างมาก” 

นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นให้ตอบโจทย์ในทุกๆด้าน อาทิ การพัฒนาทำโปรแกรม Health Scan สำหรับตรวจสุขภาพให้กับลูกค้า รวมถึงการพัฒนา AI (Artificial intelligence) ทำโปรแกรมวิเคราะห์คนที่เข้ามาในระบบเพื่อทดสอบดูความพร้อมของคนโดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มในการพิจารณาดูว่าแต่ละคนเหมาะเป็นผู้บริโภค หรือเหมาะเป็นนักขาย หรือเหมาะเป็นนักสร้างองค์กร หรือเหมาะเป็นผู้ฝึกสอน หรือเหมาะเป็นผู้นำองค์กร เพื่อใช้ประโยชน์จากการสร้างเครือข่าย ดูความพร้อม ความถนัด ความชำนาญ ความตั้งใจ และสอนให้เก่งขึ้น เป็นต้น “ถ้าสถานการณ์โควิด 19 ไม่รุนแรงแล้วและรัฐบาลอนุญาตให้จัดงานได้ในช่วงงานฉลองครบรอบ 18 ปีของ J&C ซึ่งเตรียมจัดในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี ก็คาดว่าจะเปิดตัวแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการ เรียกว่ามีครบทุกอย่างอยู่ในแพลตฟอร์มดังกล่าว ทั้งซื้อขายสินค้า ดูข้อมูลรีวิวสินค้า ดูสาขา แนะนำเส้นทาง เช็คอิน และมีระบบ e-Learning รวมอยู่ด้วย”  

ดร.สมชาย กล่าวก่อนให้มุมมองถึงการทำธุรกิจขายตรงในยุค Covid-19 ด้วยว่าการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องหันมาดูทั้งสภาพแวดล้อม สถานการณ์ปัจจุบัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปรวมถึงการนำเสนอสินค้าและช่องทางทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมด ทำให้กรอบธุรกิจเดิมๆที่อาศัยการทำธุรกิจแบบเผชิญหน้า (Face to Face) ก็จะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป และแม้จะปรับเปลี่ยนมาทำในรูปแบบออนไลน์ มีการนำเสนอคอนเทนต์ก็ต้องเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์มากขึ้น นั่นหมายความว่าต้องสร้างความเชื่อมั่นได้รวมทั้งประโยชน์ใช้สอยต้องมาก่อน เพราะการซื้อของคนจะดูที่ประโยชน์มาก่อน อะไรประหยัดได้ อะไรคุ้มค่าและก่อเกิดประโยชน์ด้วยใน 3 มิตินี้เป็นสิ่งที่คนไม่ปฏิเสธอย่างแน่นอน

“สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจขายตรงตอบโจทย์ได้ดีก็คือในด้านการสร้างงานสร้างอาชีพ แม้บางครั้งสินค้าขายตรงอาจถูกมองราคาแพงกว่าแต่คุณภาพสินค้าก็ดีกว่า ดังนั้นสิ่งที่ขายตรงต้องปรับเพิ่มขึ้นคือทำอย่างไรให้คนเห็นว่าจริงๆแล้วราคาไม่แพง เพราะนอกจากจะมีคุณภาพที่ดีกว่าแล้วยังคุ้มค่ากว่าเมื่อซื้อก็จะได้ประโยชน์ทั้งการใช้สินค้าที่มีคุณภาพคุ้มค่าและผลตอบแทนก็ดี เรียกได้ว่ามีความได้เปรียบในแง่ความเป็นเครือข่ายที่ให้ประโยชน์ได้ทั้งส่วนลดส่วนคืน รวมทั้งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ได้ด้วยนั่นเอง” ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ