โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ขอนแก่น ชี้การจัดบริการโทรเวชกรรมบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดแบบผู้ป่วยในที่บ้าน เป็นการพัฒนานวัตกรรมโดยนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยจัดการดูแลแบบโฮมวอร์ดสำหรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ตอบโจทย์ความปลอดภัยทั้งผู้ป่วย บุคลากรและประชาชน ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่น 3P Safety tech

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) มอบแพทย์หญิงเอกจิตรา สุขกุล รองผู้อำนวยการสรพ. ลงพื้นที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ขอนแก่น จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 เพื่อเยี่ยมชมความก้าวหน้าการจัดบริการบริการโทรเวชกรรมบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดแบบผู้ป่วยในที่บ้าน ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่น 3P Safety tech ปี 2567 ประเภท The Best of Care ด้วยผลงาน Home Ward for Addiction Recovery บริการโทรเวชกรรมบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดแบบผู้ป่วยในที่บ้าน

ด้านนายแพทย์ชาญชัย ธงพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ขอนแก่น กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนานั้น เกิดจาก pain point ที่ปริมาณผู้ใช้สารเสพติดมีมากกว่าจำนวนเตียงที่โรงพยาบาลสามารถรองรับได้ โดยประมาณการผู้ป่วยมีถึง 450,000 คน แต่มีเตียงรองรับเพียง 10,000 เตียง ทำให้การบำบัดรักษาส่วนมากต้องทำแบบผู้ป่วยนอก


ซึ่งมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการรักษาแบบผู้ป่วยใน เนื่องจากผู้ป่วยนอกกว่า 50% ขาดนัดและออกจากการรักษา ขณะเดียวกัน การรักษาแบบผู้ป่วยในก็ไม่ตอบโจทย์ความต้องการเพราะผู้ป่วยบางส่วนติดเรียน ติดงาน และกลัวการถูกตีตรา จึงไม่อยากนอนรักษาในโรงพยาบาล โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ขอนแก่น จึงได้พัฒนา Home Ward for Addiction Recovery ซึ่งเป็นระบบบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดแบบ Intensive care ที่บ้าน มีมาตรฐานและความปลอดภัยเปรียบเสมือนนอนโรงพยาบาลจริง มีการพัฒนาแบบรายงานสุขภาพตนเองสําหรับผู้ป่วยเชื่อมต่อกับ Line official เพื่อติดตามอาการทางกายและจิตใจ มีการให้คำปรึกษา การจัดการยาต่างๆ และการสนับสนุนจากครอบครัวเพื่อสร้างแรงจูงใจและความมั่นใจในการกลับสู่ชีวิตที่ปราศจากยาเสพติด

ทั้งนี้ การจัดบริการในรูปแบบ Home ward ดังกล่าว ช่วยลดการตีตราของการเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล อีกทั้งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถบําบัดได้ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยและปลอดภัย ลดความเครียดจากการต้องเข้าโรงพยาบาล และเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังลดค่าใช้จ่ายของญาติ ลดวันนอนในโรงพยาบาล ลดอัตราการครองเตียง และลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วย

ด้านพญ.ปิยวรรณ กล่าวว่าโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ขอนแก่น เป็นโรงพยาบาลที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน HA ตั้งแต่ปี 2549 และได้ทำการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันได้ผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน HA (Re-acc ครั้งที่ 4) และได้เข้าร่วมโครงการ 3P Safety จนได้รับรางวัล ผลงานนวัตกรรม ในโครงการ 3P Safety tech ปี 2567 ซึ่งโครงการ 3P Safety เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลให้เกิดการขับเคลื่อนพัฒนาระบบบริการของสถานพยาบาลทั่วประเทศ ให้คำนึงถึงและตระหนักในเรื่องความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วย บุคลากรสุขภาพ และประชาชน ปัจจุบันมีโรงพยาบาล 977 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ

“สิ่งสำคัญคือเมื่อพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในโรงพยาบาล เราต้องหาแนวทางแก้ไข และบางครั้งอาจมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในปี 2565 สรพ. จึงร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำโครงการ 3P Safety tech โดยนำนวัตกรและบุคลากรของโรงพยาบาลมาร่วมทีม เพื่อนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดประเด็นปัญหาหรือ pain point และพัฒนาระบบบริการ ตั้งแต่เริ่มโครงการเป็นต้นมา เกิดนวัตกรรมต่างๆมากมาย

ซึ่งนวัตกรรมของโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ขอนแก่น เป็นนวัตกรรมรุ่นล่าสุดที่ตอบโจทย์ 3P Safety โดยเป็นการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในระบบการดูแลคนไข้จิตเวชและยาเสพติดให้สามารถรับการรักษาได้ที่บ้าน ทำให้ผู้ป่วยและญาติประเมินสถานการณ์ของตัวเองได้ มีระบบเทเลเมดิซีนที่เป็นระบบให้แพทย์พูดคุยกับผู้ป่วยได้ สามารถให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา และที่สำคัญคือช่วยเพิ่มจำนวนเตียงที่มีการดูแลเสมือนอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งประโยชน์ของนวัตกรรม Home Ward for Addiction Recovery มีหลายอย่าง เพราะการที่สามารถดูแลผู้ป่วยให้สามารถดูแลตัวเองได้นั้น จะส่งความปลอดภัยไม่เฉพาะผู้ป่วยและบุคลากร แต่รวมถึงประชาชนในชุมชนที่จะมีความปลอดภัยมากขึ้น ตอบโจทย์ทั้ง Patient Personal และ People Safety จนได้รับรางวัล The Best of Care” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ด้านนายแพทย์จักรพันธ์ สืบพันธ์โพธิ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ขอนแก่นให้ข้อมูลถึงความแม่นยำของการประเมินผู้ป่วยผ่านระบบโทรเวชกรรมว่าการประเมินผู้ป่วยผ่านระบบโทรเวชกรรมต้องอาศัยความเชื่อมั่นระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งถ้าผู้รับบริการมีความเชื่อมั่นว่าจะโรงพยาบาลจะให้บริการได้ดีก็จะสามารถให้ข้อมูลได้ตรง โดยโรงพยาบาลมีแนวคิดที่จะพัฒนานำเครื่องมือประเมินมาใช้ดักจับอาการที่ผิดปกติก่อนที่อาการของผู้ป่วยจะบานปลาย เช่น กรณีผู้ป่วยมีความก้าวร้าวและทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น ซึ่งผู้ป่วยจะมีการรายงานผ่านการประเมินทุกวันซึ่งจะสามารถช่วยให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยพบว่ามีผลลัพธ์ที่ดี มีผู้ป่วยให้ความร่วมมือเข้าสู่ระบบเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ ในด้านความปลอดภัยพบว่า อัตราความรุนแรง หรือ การก่อเหตุที่อยู่ในระบบมีอัตราน้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามีความปลอดภัยพอสมควร

ในขณะที่นางอาทิตยา สุปัญญา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ขอนแก่นบอกถึงปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ขอนแก่นสามารถดำเนินระบบ Home Ward ได้อย่างมีประสิทธิภาพว่าเราใช้หลักการเข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้ โดยเข้าใจในปัญหาของคนไข้เพื่อให้รู้ว่าเขามีจุดเสี่ยงอะไรบ้าง ซึ่งแต่ละคนก็มีปัญหาที่แตกต่างกัน ส่วนเข้าถึง คือการเข้าถึงความต้องการของคนไข้ เช่นคนไข้ต้องการให้โรงพยาบาลดูแลในส่วนไหนในปัญหานั้น ซึ่งเราจะมีการวางแผนและออกแบบการดูแลคนไข้ร่วมกับครอบครัว เพื่อตอบสนองความต้องการของคนไข้ให้ตรงกับปัญหาของแต่ละคน เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาด้านอารมณ์ ปัญหาด้านอาชีพ การดำเนินชีวิต เราก็จะเป็นเหมือนโค้ชชิ่ง (Coaching) ที่คอยให้คำแนะนำและปรึกษา

ซึ่งคนไข้ก็จะมีความมั่นใจว่าเราสามารถพึ่งเราได้ นอกจากนี้เรายังมีการพัฒนาการบริการในรูปแบบของ PDCA ย่อมาจาก Plan, Do, Check, Act ซึ่งเป็นวงจรการบริหารงานคุณภาพที่ใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมี 4 ขั้นตอนหลัก คือ การวางแผน (Plan), การปฏิบัติ (Do), การตรวจสอบ (Check), และการปรับปรุง (Act) เพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ครอบครัวคือส่วนสำคัญและนับเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่ใช้ประเมินในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เพราะเราต้องโค้ชชิ่ง (Coaching) ครอบครัวเพื่อให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแล ช่วยจัดการปัญหา ทำให้คนไข้ลดความกังวล และให้ครอบครัวเกิดความมั่นใจว่าจะสามารถดูแลคนไข้ยาเสพติดได้ โดยไม่เกิดความกังวล