สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ร่วมประชุม “OIC Meets CEO 2025” ครั้งที่ 2/2568 ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

0
20

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) จัดการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย “OIC Meets CEO 2025” ครั้งที่ 2/2568 โดยนายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานการประชุม ร่วมกับ นายสาระ ลํ่าซำ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้บริหารสมาคมประกันชีวิตไทย ผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย และผู้บริหารบริษัทประกันภัยเข้าร่วม ณ ห้องชัยพฤกษ์ 2 หอประชุมกองทัพอากาศ (ทองใหญ่) กรุงเทพมหานคร

สำหรับการประชุมประจำปี 2568 ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีหารือเชิงนโยบายระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับผู้บริหารบริษัทประกันภัยระดับสูง ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยสู่ความมั่นคง ยั่งยืน ทันสมัย และสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยในการประชุมดังกล่าว ได้มีการหารือในวาระที่สำคัญ 7 หมวดหลัก ประกอบด้วย

  1. การกำกับดูแลความมั่นคงของธุรกิจประกันภัย ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการศึกษาเพื่อทบทวนประกาศสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัย และแนวทางการกำกับดูแลการลงทุนให้มีความรอบคอบและสอดคล้องกับสถานการณ์ความเสี่ยงในปัจจุบัน พร้อมทั้งพิจารณาการปรับหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย ตลอดจนแนวทางการกำกับบริษัทประกันภัยแบบรวมกลุ่ม (Group-Wide Supervision) เพื่อให้การกำกับดูแลครอบคลุมทั้งในระดับบริษัทและระดับกลุ่มธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเกณฑ์การคำนวณสำรองประกันภัยให้มีความเหมาะสมกับลักษณะความเสี่ยงของธุรกิจ การยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลฐานะการเงินและความมั่นคงของบริษัทประกันวินาศภัยและประกันชีวิตตามหลักเกณฑ์ใหม่ รวมถึงการส่งเสริมให้การกำกับดูแลบริษัทประกันภัยมีความเข้มแข็งโดยใช้กลไกทางกฎหมาย และการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจัดทำนโยบายด้าน ESG การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของ บริษัทประกันภัยต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส การติดตามผลการบังคับใช้แนวนโยบายที่เกี่ยวกับการระบุชื่อผู้ขับขี่ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า และการขอความร่วมมือในการอ้างอิงเอกสารประกอบการคำนวณระดับแอลกอฮอล์ย้อนหลังในชั้นศาล เพื่อประกอบกระบวนการพิจารณาอนุญาโตตุลาการให้เป็นไปอย่างรอบด้านและเป็นธรรม
  2. ผลการบังคับใช้มาตรฐานรายงานทางการเงิน โดยรายงานความคืบหน้าการบังคับใช้มาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการจัดทำรายงานของบริษัทประกันภัย และสรุปผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรายงานทางการเงินจากข้อมูลประจำไตรมาส 1/2568 และแนวทางการกำกับและติดตาม ธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน อาทิเช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์และค่ามาตรฐานการจัดกลุ่มตามระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System : EWS) ในอนาคต รวมถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการอนุมัติอนุญาตต่าง ๆ
  3. การใช้ประโยชน์จากข้อมูลในอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อทราบรายละเอียดเกี่ยวกับแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของคนไทย (Health Link) และเพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากระบบดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยสำนักงาน คปภ. พร้อมทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (Big Data Institute : BDI) โดยจะร่วมกันหารือเชิงลึกในประเด็นสำคัญ อาทิ โอกาสในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในแพลตฟอร์ม Health Link ในมิติต่าง ๆ โดยที่ประชุมมีความคิดเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของชุดข้อมูลที่มีอยู่ รวมถึงประเภทข้อมูลสุขภาพที่ภาคธุรกิจประกันภัยต้องการเพิ่มเติม การกำหนดแนวทางเชื่อมโยงและพัฒนาการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยในการสนับสนุนให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลสุขภาพของผู้เอาประกันภัยมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราค่าบริการในการขอข้อมูล สามารถพิจารณาและหารือร่วมกันระหว่าง BDI กับภาคธุรกิจประกันภัยในลำดับถัดไป
  4. การกำกับดูแลเรื่องการฉ้อฉลประกันภัย อาทิ การกำหนดตัวตรวจจับพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัยจากระบบรายงานการฉ้อฉลของสำนักงาน คปภ. การบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย กรณีตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยในสังกัดมี สถานะความเสี่ยงด้านการฉ้อฉลประกันภัยเป็นสีส้มและสีเหลือง และการเปิดเผยข้อมูลฉ้อฉลประกันภัยให้ภาคธุรกิจประกันภัย
  5. การยกระดับประสิทธิภาพระบบคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยที่ประชุมรับทราบแนวทางการยกระดับประสิทธิภาพของกลไกการทำงานในระบบคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ และได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจประกันภัยในการส่งเสริมการประกันภัยรถภาคบังคับ เพื่อให้ระบบสามารถให้ความคุ้มครองได้อย่างครอบคลุมและ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  6. การยกระดับแนวทางการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของ คนกลางประกันภัย จึงเร่งพัฒนามาตรฐานและกลไกกำกับดูแลให้ทันสมัย โปร่งใส และคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการดำเนินงานหลัก ดังนี้ การบริหารจัดการข้อมูลคนกลาง โดยส่งเสริมการลงทะเบียนระบบ e-Licensing เพื่อจัดทำฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ครอบคลุม และทันสมัย พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนตรวจสอบใบอนุญาตก่อนทำธุรกรรม การยกระดับความโปร่งใสและความเสี่ยงโดยกำชับให้บริษัทประกันภัยมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน รวมถึงติดตามพฤติกรรมตัวแทนและนายหน้าอย่างใกล้ชิด ช่องทางการชำระเบี้ยประกันภัย โดยสนับสนุนการรับชำระเบี้ยประกันภัยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อ ลดความเสี่ยงและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัย การพัฒนากฎหมายและข้อสอบ โดยดำเนินการปรับปรุงข้อสอบและเนื้อหาหลักสูตรสำหรับตัวแทนและนายหน้า โดยร่วมมือกับสมาคมภาคธุรกิจ พร้อมกำหนดแผนวิพากษ์และอนุมัติข้อสอบใหม่ ในปี 2568 และมาตรฐานจรรยาบรรณและพัฒนาเครือข่ายวิชาชีพ โดยส่งเสริมให้สมาคมต่าง ๆ ร่วมพัฒนามาตรฐานจรรยาบรรณ และสนับสนุนการเข้าร่วมสมาคมตัวแทนเพื่อเสริมศักยภาพและภาพลักษณ์วิชาชีพในระยะยาว
    และ 7. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจประกันภัย โดยมีการรายงานผลโครงการพัฒนาบุคลากรประกันชีวิตแห่งชาติ (ASEAN Life Insurance Leadership Program : ALIP) และหารือยกระดับทักษะ ด้านวิทยาศาสตร์ประกันภัย รวมถึงการส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยผ่านการมีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยในอนาคตต่อไป
    สำหรับในแต่ละประเด็น มีการรายงานความคืบหน้า ข้อเสนอแนะ และแนวทางการดำเนินการเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลที่เท่าทันความเสี่ยง การใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในทุกระดับให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล การประชุมในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ภาคธุรกิจประกันภัย นับเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่สำนักงาน คปภ. ใช้เพื่อประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และรับฟังเสียงจากภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด อันจะนำไปสู่การยกระดับระบบประกันภัยไทยให้ทันสมัย โปร่งใส และเป็นเครื่องมือในการ บริหารความเสี่ยงของประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. มีแผนจะจัดประชุม “OIC Meets CEO” ครั้งที่ 3/2568 ในช่วงปลายปี เพื่อเป็นเวทีต่อเนื่องในการติดตามผลการดำเนินงานตามแนวทางที่ได้หารือร่วมกัน และกำหนดมาตรการในอนาคตให้ครอบคลุมความท้าทายและโอกาสของอุตสาหกรรมประกันภัยในระดับประเทศต่อไป