เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาอนุญาโตตุลาการ ประจำปี 2568 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยมีนายคณานุสรณ์ เที่ยงตระกูล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กล่าวรายงาน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนความรู้ทางวิชาการด้านกฎหมายประกันภัยที่มีการแก้ไขปรับปรุง รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรูปแบบใหม่ที่สำคัญในปัจจุบัน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อยกระดับศักยภาพของอนุญาโตตุลาการ ตลอดจนพนักงานผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถใช้กระบวนการ ระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน โดยเฉพาะในบริบทของ การประกันภัยซึ่งมีความซับซ้อนสูง โดยเน้นย้ำว่า การระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ถือเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครอง สิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย โดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งช่วยให้การระงับข้อพิพาทเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประหยัด และเหมาะสมกับบริบทของสัญญาประกันภัย หากกระบวนการอนุญาโตตุลาการได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านองค์ความรู้ กฎหมาย และเทคโนโลยี ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยมีระบบระงับข้อพิพาทที่เป็นมาตรฐานสากล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับ ผู้เอาประกันภัย ภาคธุรกิจ และสังคมในวงกว้าง อันจะนำไปสู่ระบบประกันภัยที่เข้มแข็ง โปร่งใส และยั่งยืนในอนาคต
สำหรับหัวข้อการสัมมนาครั้งนี้ เนื้อหาครอบคลุมประเด็นใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น อาทิ “กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพที่มีเงื่อนไขแบบ Copayment” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่สำนักงาน คปภ. ได้ผลักดันตามแนวทาง New Health Standard เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ โดยยังคงคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยเป็นหลักสำคัญ และหัวข้อ “ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยกรณีความเสียหายจากแผ่นดินไหว”
ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด ในประเทศเมียนมาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยประเด็นนี้เป็นองค์ความรู้สำคัญที่อนุญาโตตุลาการจำเป็นต้องใช้ในการพิจารณา และวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทด้านการประกันภัยในอนาคต รวมทั้งการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “แนวทางการพิจารณาค่าสินไหมทดแทน” โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และอนุญาโตตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 3 ท่าน คือ ท่านอาจารย์บุญรอด ตันประเสริฐ ท่านอาจารย์ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน และท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์อุดม งามเมืองสกุล ร่วมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเชิงวิชาการ
โดยมีนายปรัชพัฒน์ วงษ์เนติศิลป์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานระงับข้อพิพาท เป็นผู้ดำเนินการเสวนา เพื่อให้ผู้สัมมนาตกผลึกทางความคิด สามารถประยุกต์ใช้หลักกฎหมายและเหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาดได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเกิดผลในทางปฏิบัติจริง
“การสัมมนาครั้งนี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบระงับข้อพิพาทของสำนักงาน คปภ. ให้เป็นกลไกที่ทรงประสิทธิภาพ ในด้านคุ้มครองสิทธิของประชาชน และสนับสนุนความมั่นคงของระบบประกันภัยไทยอย่างยั่งยืน การส่งเสริมบทบาทของอนุญาโตตุลาการ ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ถือเป็นกลไกสำคัญในการวางรากฐานระบบระงับข้อพิพาทภาคประชาชนที่ทันสมัย มีหลักเกณฑ์ชัดเจน และสามารถรองรับความซับซ้อนของสัญญาประกันภัยยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในระยะยาว ประชาชนจะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางเลือกได้สะดวก รวดเร็ว ลดภาระด้านค่าใช้จ่าย และได้รับการคุ้มครอง สิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย