กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 32.25-32.90 ทรัมป์เพิ่มความไม่แน่นอน

0
64

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.25-32.90 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.55 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 32.54-33.29 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือน เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ โดยดอลลาร์หยุดสถิติการฟื้นตัว 4 สัปดาห์ติดต่อกัน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์)ระยะยาวของสหรัฐฯพุ่งขึ้นหลังผลประมูลอ่อนแอ่กว่าคาด และนักลงทุนระมัดระวังต่อความเสี่ยงที่รัฐบาลของทรัมป์กำลังเผชิญจากร่างกฎหมายที่ขาดความน่าเชื่อถือและจะเพิ่มหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 10 ปีข้างหน้า สะท้อนข้อกังขาเรื่องความเชื่อมั่นในสินทรัพย์สหรัฐฯ อนึ่ง แม้ตัวเลข PMI เดือนพ.ค.เบื้องต้นของสหรัฐฯออกมาดีเกินคาด แต่เงินดอลลาร์ไม่สามารถประคองตัวได้ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 4,239 ล้านบาท และ 16,493 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ ตลาดจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อ PCE เดือนเมษายนของสหรัฐฯ ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้ารุนแรงขึ้นอีกครั้งหลังปธน.ทรัมป์เสนอให้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปในอัตรา 50% เริ่มวันที่ 1 มิถุนายน แต่ทรัมป์ได้กล่าวในเวลาถัดมาว่าจะเริ่มเก็บภาษีดังกล่าววันที่ 9 กรกฎาคม ตอกย้ำการบริหารนโยบายที่ขาดความแน่นอน ในขณะเดียวกัน นักลงทุนมองถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทรัมป์กำลังผลักดันให้ประเทศต่างๆปล่อยให้สกุลเงินของตนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์และอาจเป็นส่วนหนึ่งของข้อต่อรองเรื่องภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ภายในเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม นอกจากนี้ ทิศทางด้านการคลังของสหรัฐฯยังเพิ่มความเปราะบางเชิงโครงสร้างสำหรับค่าเงินดอลลาร์ โดยสำนักงานงบประมาณของรัฐสภาสหรัฐฯประเมินว่าร่างกฎหมาย One Big Beautiful Bill จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมสิบปี 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ หรืออาจสูงถึง 4.6 ล้านล้านดอลลาร์กรณีการลดภาษีชั่วคราวทั้งหมดกลายเป็นมาตรการถาวร

สำหรับปัจจัยในประเทศ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/68 ขยายตัว 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (y-o-y) ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ แต่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1.3-2.3% จากเดิม 2.3-3.3% และยังปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออกเป็น 1.8% จาก 3.5% ท่ามกลางความเสี่ยงจากสงครามการค้า