เปิดฉาก “EARTH JUMP 2025” กสิกรไทยผนึกทุกภาคส่วน แนะยุทธศาสตร์รับมือโลกร้อน หนุนธุรกิจลงมือทำจริงสู่ความยั่งยืน ย้ำไทยยืนหนึ่งผู้นำการขับเคลื่อนในอาเซียน

0
63

งาน EARTH JUMP 2025 ซึ่งธนาคารกสิกรไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่แล้ววันนี้ ระดมผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจระดับโลกและระดับประเทศ ให้แนวทางกลยุทธ์และความรู้ อัปเดตข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรับมือความแปรปรวนที่เกิดขึ้น โดยในวันแรกมีเนื้อหาที่น่าสนใจมากมาย อาทิ โลกกจะเกิดสภาวะแปรปรวนด้านเศรษฐกิจและสังคมแต่การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนยังเดินหน้าต่อไป ประเทศไทยเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่อง Taxonomy ในอาเซียน และภาครัฐกำลังผลักดัน พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีหน้า ในส่วนภาคเอกชนก็ยังมุ่งมั่นเดินหน้าเรื่องนี้ต่อเนื่อง แต่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ความชัดเจนของนโยบายและข้อบังคับต่างๆ รวมถึงแหล่งเงินทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ พร้อมทั้งกรณีศึกษาประเทศจีนที่นำ Taxonomy มาแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจนสำเร็จ และกรณีศึกษาจากประเทศเดนมาร์กที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้พร้อมกับเศรษฐกิจที่โตขึ้นเกือบ 80% นอกจากนี้ยังมีมุมมองและข้อมูลอัปเดตเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องกันว่ายังต้องเดินหน้าต่อ เพราะนี่คือกติกาเกมธุรกิจในโลกใหม่

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การจัดระเบียบโลกด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่มีอเมริกาเป็นศูนย์กลาง หลายประเทศเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ในส่วนของประเทศไทย ภาครัฐกำลังผลักดัน พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีหน้าเพื่อบังคับและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีมาตรการภาคบังคับเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันด้วยระบบกลไกราคาคาร์บอน เช่น 1.ระบบซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) เพื่อบังคับการลดการปล่อยคาร์บอนจากแหล่งกำเนิด 2.การเริ่มเก็บ Carbon Tax ในบางธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน พร้อมทั้งผลักดันมาตรการสนับสนุนโดยจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคประชาชน โดยภาครัฐก็ต้องไม่เพียงแค่ Talk the Talk แต่ต้อง Walk the Walk ด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างความสำเร็จในการทำตามแผนงานที่เห็นผลจริง รวมถึงการพร้อมรับฟีดแบคจากภาคเอกชนเพื่อต่อยอดเป็นนโยบายสนับสนุนและช่วยเหลือที่แม้จะมีอุปสรรคและข้อจำกัดจากข้อกฎหมายอยู่บ้างแต่ภาครัฐก็ต้องตอบสนองให้เร็วที่สุด

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในโลกปัจจุบันที่มี ‘ความแปรปรวน’ ตลอดเวลา เราต้องเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันหลายเรื่อง เช่น นโยบายของสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโตชะลอตัว การเข้ามาของ AI และที่สำคัญคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ส่งผลทำให้เกิดภัยพิบัติจากอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการรับมือมี 3 กลยุทธ์สำคัญที่ต้องทำ คือ 1. Health Check ตรวจสุขภาพตัวเองก่อน ว่าตอนนี้เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไร 2. Commitment ตั้งเป้าว่าเราจะลดเท่าไร ในปีไหน และ 3. Solution คือการหาวิธีและหาเครื่องมือต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าที่ตั้งไว้ ธนาคารกสิกรไทยไม่เพียงตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราเอง แต่ยังมุ่งมั่นช่วยเหลือลูกค้า เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero พร้อมกัน ด้วยการสร้าง K-Climate Solutions ซึ่งครอบคลุมทั้งระบบนิเวศ เพื่อนำไปสู่ Ecosystem ที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย
สรุปประเด็นสำคัญที่น่าสนใจในช่วงเช้าจากงาน EARTH JUMP 2025 มีดังนี้

  1. ทั่วโลกยังเดินหน้าด้านสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่อาจจะเดินได้ช้าลง โดยตัวแทนภาคธุรกิจไทยมองว่าเอกชนยังมุ่งมั่นเดินหน้าตาม Roadmap เดิม แต่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ความชัดเจนของนโยบายและข้อบังคับต่างๆ รวมถึงแหล่งเงินทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน นอกจากนี้การสนับสนุนองค์ความรู้ก็สำคัญ ต้องทำให้เห็นว่านี่คือโอกาสของธุรกิจ เพราะหากเปลี่ยนแล้วไม่สร้างรายได้ ก็ไม่มีใครอยากทำ
  2. ประเทศไทยเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่อง Taxonomy ในอาเซียน ไทยเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่มีการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Taxonomy โดยมีกรณีศึกษาของประเทศจีนที่น่าสนใจ คือ จีนให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2557 เพราะประสบปัญหาด้านมลพิษ ภาครัฐจึงกำหนดนโยบายส่งเสริมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การให้เงินทุนสนับสนุนและมาตรการส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กฎระเบียบในการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม จนสามารถแก้ไขปัญหามลพิษได้ในที่สุด
  3. Climate Finance เป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนความยั่งยืนใน Supply Chain ซึ่ง Climate Finance ทั่วโลกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะในเอเชีย นักลงทุนเลือกลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน แต่ธุรกิจ SME ที่อยู่ใน Supply Chain ส่วนใหญ่ยังต้องการความช่วยเหลือในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งธนาคารพร้อมช่วยเหลือทั้งการให้ความรู้ ให้คำปรึกษา สนับสนุนเครื่องมือ รวมถึงเป็นแหล่งเงินทุน

งาน EARTH JUMP 2025 จัดขึ้น 2 วัน โดยในส่วนของการจัดงานวันที่สอง (29 พ.ค. 2568) มีเรื่องที่น่าสนใจ ได้แก่ อัปเดตเทรนด์และผลกระทบต่อธุรกิจไทย ฟังมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญและภาคธุรกิจถึงทางรอดใหม่ของ SME ในยุค Net Zero ร่วมถอดบทเรียนธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ พร้อมโชว์เคสนวัตกรรมสุดล้ำจากองค์กรชั้นนำ รวมถึงโอกาสธุรกิจท่ามกลาง Climate Game และพบกับ SME e-Handbook คู่มือที่จะช่วยให้ธุรกิจ SME เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืนเป็นที่แรก

นี่คือโอกาสสุดท้ายสำหรับธุรกิจและผู้ที่สนใจปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง คว้าโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนไปกับสุดยอดฟอรัมแห่งปี EARTH JUMP 2025