เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 พ.ค. 2568 ที่ศูนย์การเรียนโพธิยาลัยอ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 นำคณะกรรมการบริหารแผนคณะ 1 ผู้บริหารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานการสานพลังพระพุทธ ศาสนาสร้างเสริมสุขภาพสังคม ไทย

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญของสังคมไทย ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและดูแลสุขภาวะของประชาชนทุกมิติ ทั้งกาย ใจ ปัญญา และสังคม หลักธรรมคำสอนเน้นความไม่ประมาท มีสติ ลดละเลิกอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ และสารเสพติดสสส.จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพของพระสงฆ์และเครือข่ายศาสนาให้เป็นกลไกเชิงนโยบายระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อนปกป้องสุขภาวะประชาชน นำไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ได้แก่ 1.โครงการวัดปลอดบุหรี่ สุขภาพดีด้วยวิถีธรรม ส่งเสริมให้เกิดวัดปลอดบุหรี่ 3,300 แห่งใน 24 จังหวัด และโรงเรียนพระปริยัติธรรมต้นแบบปลอดบุหรี่ 80 แห่งทั่วประเทศ มีพระสงฆ์เลิกสูบบุหรี่147 รูป และมีผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ลงนามในใบอธิษฐานจิตในโอกาสสำคัญเช่น ช่วงเข้าพรรษา วันพระ วันเกิด รวม 9,227 คน โดยนำรายชื่อส่งให้สายด่วนเลิกบุหรี่ติดตามผลต่อ รวมถึงพัฒนาพระคิลานุปัฏฐาก 3,100 รูปให้ทำงานเชิงป้องกันได้ เช่น สำรวจพระสงฆ์ที่สูบบุหรี่ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น ดูแลพระสงฆ์อาพาธติดเตียง และกระตุ้นชุมชนให้มีมาตรการร่วมกันเรื่องงานบุญประเพณีปลอดเหล้าบุหรี่
“2.โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ “งานบวชสร้างสุข” สู่สุขภาวะชุมชนและสังคมด้วยหลักพุทธธรรม เนื่องจากงานบวชในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5 หมื่น – 1 ล้านบาท สสส. จึงส่งเสริมงานบวชสร้างสุขที่มุ่งเน้นความเรียบง่าย ประหยัด ตามหลักพระธรรมวินัย พบว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 1 แสนบาท/งาน จำนวนนี้เป็นค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2 หมื่นบาทจากการดำเนินการ 173 พื้นที่/วัด ใน 50 จังหวัด ตั้งแต่ ม.ค. 2567 – ก.พ. 2568 มีการจัดงานบวชสร้างสุข 3,085 นาค ประหยัดค่าใช้จ่ายรวมกว่า308,500,000 บาท ช่วยลดความรุนแรงเหตุทะเลาะวิวาทในงานบวช จากเสียชีวิตเฉลี่ย 9 ราย/ปี เหลือ 4.5 ราย/ปี” นพ.สรุเชษฐ์ กล่าว

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า 3.โครงการสร้างเสริมสถาบันพระพุทธศาสนาสุขภาวะเพื่อการลดปัจจัยเสี่ยงใน 10 จังหวัด ส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ผ่านเครือข่ายพระสอนศีลธรรมและเครือข่ายบวร (บ้าน วัด โรงเรียนราชการ) เป็นกลไกหลักเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาวะในชุมชน โดยจัดอบรมหลักสูตรออนไลน์ “ครูพระสุขภาวะ” เพื่อวางแผนกิจกรรมลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สอดคล้องกับแนวทางพระพุทธศาสนา ถ่ายทอดความรู้เรื่องโทษของบุหรี่และยาเสพติดในโรงเรียน ป้องกันการเกิดนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนและสามเณร

ด้าน พระศรีสมโพธิ หัวหน้าโครงการสร้างเสริมสถาบันพระพุทธศาสนาสุขภาวะเพื่อการลดปัจจัยเสี่ยง นำกล่าวประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อน “วัด โรงเรียน และงานบุญปลอดบุหรี่” ว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มูลนิธิโพธิยาลัย มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม 9 ภาค เครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ (คพชน) เครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก เครือข่ายพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เครือข่ายโรงเรียนพระปริยัติปลอดบุหรี่ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงปัญหาการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ของบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีผลกระทบต่อร่างกาย เศรษฐกิจ สังคม สร้างปัญหาอาชญากรรม และความรุนแรงในครอบครัว จึงร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อดำเนินการ “สานพลัง พุทธ เพื่อ ลด ละ เลิกบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ดังนี้ 1.สนองตอบต่อมติมหาเถรสมาคมเรื่อง “แนวทางการปฏิบัติการจัดงานบุญปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” โดยจัดเขตปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวัด มหาวิทยาลัยสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับประชาชนที่มาใช้พื้นที่วัด ไม่ขาย ไม่สูบไม่ดื่มในพื้นที่ รวมถึงจัดกระบวนการเรียนรู้ให้พระภิกษุสามเณรเป็นแบบอย่างไม่สูบบุหรี่ รณรงค์เผยแพร่ความรู้พิษภัยของการสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโอกาสต่างๆ เพื่อสร้างค่านิยมไม่สูบไม่ดื่มในประชาชน
พระศรีสมโพธิ กล่าวต่อว่า 2.สร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่รูปธรรม “ปลอดบุหรี่” และ “ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ในวัดมหาวิทยาลัยสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม บูรณาการหลักพุทธธรรมในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม “ปลอดบุหรี่” และ “ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพื่อสร้างค่านิยมไม่สูบและไม่ดื่มในประชาชนอย่างยั่งยืน3.ร่วมกับภาคีเครือข่ายป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประกาศเจตจำนงที่สนับสนุนให้รัฐบาลคงนโยบายมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

นายธวัชชัย จันจุฬา ผู้ประสานงานโครงการวัดปลอดบุหรี่ฯ กล่าวว่าศูนย์การเรียนโพธิยาลัย อ.ดอยสะเก็ด เป็น 1 ใน 80 โรงเรียนพระปริยัติธรรมปลอดบุหรี่ต้นแบบ ให้การศึกษาแก่สามเณรตั้งแต่ ม.1-6 ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มาจากครอบครัวไม่สมบูรณ์ พ่อแม่หย่าร้าง เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติดังนั้น จึงต้องมีกระบวนการจัดการหรือขัดเกลาที่ดี เพื่อให้เติบโตเป็นศาสนทายาท หรือไปอยู่ในสังคมได้อย่างไม่มีปัญหา การดำเนินงานเป็นไปตามตัวชี้วัด 5 ด้าน คือ 1.ตั้งคณะกรรมการและพัฒนาแกนนำครูในการเฝ้าระวังแก้ไขปัญหาสามเณรสูบบุหรี่ 2.พัฒนาหลักสูตรวิชาสุขศึกษาบูรณาการ โดยนำโทษของบุหรี่เข้าสู่การเรียนปกติ
ซึ่งไม่ได้มีแค่ทฤษฎี แต่มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ เช่น นำสามเณรไปดูผลกระทบของผู้ติดบุหรี่3.มีกระบวนการช่วยสามเณรที่ติดหรือเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสม 4.มีนโยบายชัดเจนเรื่องโรงเรียนปริยัติธรรมปลอดบุหรี่ 5.มีการจัดการสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนไม่เอื้อให้สามเณรสูบหรือยุ่งเกี่ยวบุหรี่ ทำให้เกิดการป้องกันการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าของสามเณร ส่วนที่มีการสูบอยู่ระหว่างกระบวนการให้คำปรึกษา