
ดร.นันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน(สสปท.)

เปิดเผยว่าภายใต้นโยบายของรมต.ว่าการกระทรวงแรงงาน นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ห่วงใยเรื่องความปลอดภัยของประชาชนโดยเฉพาะในการทำงาน สสปท.ในฐานะหน่วยงานในกำกับ จึงเร่งจัดทำมาตรฐาน คู่มือเพื่อความปลอดภัยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด ผอ.สสปท. ระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจการขนส่งสินค้าทางถนนเป็นประเภทการขนส่งหลักของประเทศไทยโดยมีสัดส่วนสูงถึง 80% ของการขนส่งทุกรูปแบบ และเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่า จำนวนการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถบรรทุก เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10 – 12 % จากปี 2564 -2567 โดยข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนทางตรง 67% และยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือรถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ คิดเป็น 34% ของยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด

สสปท. ขานรับนโยบาย รมต.แรงงานเร่งจัดทำแนวปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับผู้ประกอบการรถขนส่งทางบก เผยแพร่ในเดือนก.ย.นี้ หลังพบสถิติรถสาธารณะ รถขนส่งสินค้าทั้ง 6 ล้อ และ ตู้ทึบ เกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น ระบุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนแต่ละครั้ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงไม่รวมความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

“จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุต่อจำนวนรถจดทะเบียน10,000 คัน โดยแบ่งตามประเภทรถ พบว่า รถบรรทุกจำพวก รถรับจ้าง6ล้อ รถรับจ้าง10ล้อ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ และมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆปี ซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งเมื่อเปรียบเทียบกับการเกิดอุบัติเหตุประเภทอื่นๆ มีมูลค่าความสูญเสียที่มากกว่าในการเกิดอุบัติเหตุจากรถประเภทอื่น เช่น รถขนส่งสาธารณะที่เป็นรถบัส รถบัส 2 ชั้น หรือ รถสองแถวที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง” ดร.นันทชัย ระบุและว่า งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนแต่ละครั้ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งโอกาสทางธุรกิจ การสูญเสียทรัพย์สิน และเกิดความเสียหายทั้งต่อผู้ขับรถขนส่งทางบกและบริษัทขนส่งสินค้าเป็นอย่างมาก ตลอดจนความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เพราะการเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย ในขณะที่การบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย

ผอ.สสปท. กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนนับเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ที่องค์การสหประชาชาติมุ่งแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ร่วมขับเคลื่อนดำเนินงานตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) ซึ่งตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชนบนถนนครึ่งหนึ่ง และให้ความสำคัญกับการจัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ และคำนึงถึงกลุ่มสตรี เด็กผู้พิการ และผู้สูงอายุภายในปี พ.ศ.2573 รวมถึงการรับรองกรอบปฏิญญาด้านความปลอดภัยทางถนนของสหประชาชาติ และร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตามทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนกันอย่างต่อเนื่อง

“อุบัติเหตุในแต่ละครั้งพบว่ามาจากผู้ขับขี่เป็นหลัก แต่นอกเหนือจากประเด็นความประมาทของคนแล้ว ลึกไปกว่านั้นยังมีสาเหตุจากการขาดอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยซ่อนอยู่ด้วย โดยเฉพาะอุปกรณ์พื้นฐานอย่างเข็มขัดนิรภัย รวมไปถึงสภาพรถที่เก่าทรุดโทรมไปจนถึงเสื่อมสภาพทั้งตัวถัง เบรก ล้อ และอุปกรณ์เสริมหลายอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงมาตรฐานของพนักงานขับรถที่ไม่ได้เกณฑ์ หรือระบบที่เด็ดขาดออกมาควบคุมมาตรฐานของพนักงานขับรถ และพนักงานบริการ อย่างระบบขนส่งทางอากาศหรือรถไฟฟ้า ทั้งที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นกิจการที่มีเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเช่นกัน แต่การทุ่มงบประมาณไปกับความปลอดภัย

สำหรับการขนส่งทางรถยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ”ดร.นันทชัย กล่าวและว่า สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือ สสปท. ตระหนักถึงความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะเป็นสำคัญ จึงจัดทำแนวปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับรถโดยสารสาธารณะ (Guidelines for Managing Occupational Safety and Health of Public Transportation) เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะสามารถปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัยในการขนส่งทางถนน ลดอุบัติเหตุและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไปสู่การจัดการความปลอดภัยฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม หรือนำไปจัดทำเป็นนโยบายด้านความปลอดภัยได้ด้วย โดยเตรียมที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะในเดือนก.ย.2568 ที่จะถึงนี้