ปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ประชาชนจำนวนมากย้ายเข้าสู่เมืองเพื่อโอกาสทำมาหากินและการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันตัวเมืองก็ขยายพื้นที่กว้างออกไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รูปแบบที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปเป็นทั้งหมู่บ้านจัดสรรและอาคารสูง มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายเข้าไปทดแทนการอยู่อาศัยแบบเดิม
ความเป็นเมืองที่เติบโตนี้ แม้จะนำความเจริญทางสังคมและกายภาพตามไปด้วย แต่กลับสร้างความท้าทายด้านสุขภาพที่สำคัญต่อผู้ย้ายเข้ามาพักอาศัยใหม่และผู้อยู่อาศัยเดิม เช่น การมีเวลาดูแลสุขภาพน้อยลงซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้มีรายได้ในระดับต่างๆและการขาดการเชื่อมโยงของระบบการดูแลสุขภาพเข้ากับชุมชนที่เกิดใหม่
“ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเห็นเด่นชัดในพื้นที่อยู่อาศัยรูปแบบชุมชนอาคารสูงและหมู่บ้านจัดสรร”

นายแพทย์ไผท สิงห์คำ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.)กล่าวว่าสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) เป็นหน่วยงานภายใต้กรมควบคุมโรค ทำหน้าที่เป็นสถาบันวิชาการด้านการป้องกันควบคุมโรคในเขตเมืองโดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ตอบสนองกับความท้าทายด้านสุขภาพในบริบทของผู้อยู่อาศัยในเขตเมือง

“ภารกิจหลักของเรา คือการนำมาตรการ แนวทางปฏิบัติ และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้สำหรับงานป้องกันควบคุมโรคทุกชนิด มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่เขตเมือง ที่มีคนหลากหลาย อาศัยในพื้นที่มีความหนาแน่นสูง กิจกรรมชีวิตประจำวันซับซ้อน” นพ.ไผทอธิบาย

สปคม.จะทำหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้ด้านการป้องกันโรคและภัยสุขภาพ นำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทการจัดการในเขตเมือง ถ่ายทอดมาตรฐานและองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ป้องกันและควบคุมโรคทั้งโรคติดต่อ โรคระบาด และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
จากความท้าทายทางสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองที่เข้าถึงบริการสุขภาพได้ยากทั้ง ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ บริการด้านการป้องกัน รักษาโรคและการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้พบการขาดความเข้าใจในการป้องกันตนเองของประชาชนและในบางกรณีเกิดการระบาดของโรคในชุมชนอย่างรวดเร็ว
สปคม. จึงได้ริเริ่มโครงการ “Urban Village Care Plus” หรือ “uVilleCare Plus” ซึ่งเป็นโครงการระยะ 3 ปี (16 กุมภาพันธ์ 2567 – 15 กุมภาพันธ์ 2570)ต่อยอดจากโครงการ Urban Village Care (uVilleCare) เดิมที่ดำเนินการเฉพาะในหมู่บ้านจัดสรร ระหว่างปี 2563-2566

“โครงการ uVilleCare Plus นี้เราได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทั้งหมู่บ้านจัดสรรและชุมชนอาคารสูง เพื่อพัฒนารูปแบบและกลไกการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเขตเมืองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ทำให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วนได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย

นพ.ไผทเผยว่าโครงการ uVilleCare Plus ได้นำแนวคิด “Healthy Home” มาเป็นพื้นฐานในการดำเนินงาน เพื่อสร้างชุมชนอยู่อาศัยในเมืองให้มีความเข้มแข็งในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ด้านโครงสร้างที่พักอาศัย: ออกแบบร่วมกับคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข: ออกแบบร่วมกับคณะพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมโรค
แนวคิด Healthy Home ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักได้แก่ 1.Structural Safety House (S1): โครงสร้างบ้านที่ปลอดภัยต่อการอยู่อาศัย 2.System of Health (S2): ระบบการแพทย์และสาธารณสุขในชุมชน 3.Staff of Good Management (S3): การบริหารจัดการโดยนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการโครงการ และแกนนำชุมชน
โครงการ uVilleCare Plus ยังได้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการสุขภาพออกเป็น 8 รูปแบบ ครอบคลุมทั้งการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรค ที่สามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพสำคัญที่พบบ่อยของประชาชนในเขตเมือง ประกอบด้วย 1.การสร้างเสริมสุขภาพทั่วไป 2.การป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 3.การป้องกันและควบคุมโรคหลอดเลือดสมองและโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 4.การดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 5.การรักษาทางไกล (Telemedicine) 6.การเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก7.การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่และมะเร็งปากมดลูก 8.การจัดการปัญหาเฉพาะในพื้นที่
” เราเชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนอาคารสูงและหมู่บ้านจัดสรร รูปแบบที่ถูกนำไปดำเนินการอย่างเป็นระบบนี้จะส่งผลต่อสุขภาพที่ดีในระดับบุคคลและชุมชน อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”
ระยะสั้น: คือการได้รับข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเชื่อถือได้ ผ่านการสื่อสารของนิติบุคคลหรืออาสาสมัครในชุมชน การป้องกันปัญหาสุขภาพอย่างแม่นยำและทันท่วงที
ระยะกลาง: คือการเข้าถึงช่องทางการรักษาพยาบาลที่สะดวก เมื่อเกิดการเจ็บป่วย การเชื่อมต่อกับสถานพยาบาลบริเวณใกล้เคียงตามสิทธิประโยชน์ของแต่ละบุคคล ทางเลือกในการเข้ารับบริการสุขภาพที่สะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย
ระยะยาว: ความเชื่อมั่นในการดูแลสุขภาพที่ได้มาตรฐาน การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น น้ำ อากาศ และสัตว์นำโรค ความรู้สึกปลอดภัยและลดความกังวลเรื่องสุขภาพของผู้อยู่อาศัย
ทั้งนี้โครงการ uVilleCare Plus ได้ตั้งเป้าดำเนินการในพื้นที่อยู่อาศัยเขตเมืองทั่วประเทศ ต่างจังหวัดดำเนินการร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 กรมควบคุมโรค ในขณะที่กรุงเทพมหานครดำเนินการโดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค
โดยงบประมาณในการดำเนินโครงการได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมควบคุมโรค มีเป้าหมายในการดำเนินงานกับหมู่บ้านจัดสรร จำนวน 100 แห่ง และชุมชนอาคารสูง จำนวน 24 แห่ง
นพ.ไผทกล่าวในตอนท้ายว่า “เราขอเชิญชวนหมู่บ้านจัดสรรและชุมชนอาคารสูงทุกแห่ง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำแนวทาง U VilleCare ไปใช้ในชุมชนเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้อยู่อาศัย”
หมู่บ้านจัดสรรและชุมชนอาคารสูงที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้โดยกรอกข้อมูลผ่าน QR Code สอบถามเพิ่มเติมที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค โทร. 0-2521-0943 ต่อ 412.