เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร กรุงเทพฯ นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงโครงการและกำหนดแผนงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โครงการสนับสนุนนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานข้ามชาติในแคมป์พักก่อสร้าง “สร้างสุขในไซต์งาน สู่เมืองยั่งยืนสำหรับทุกคน – From Construction Camps to Sustainable Cities for All” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ ในภาคก่อสร้างผ่านนวัตกรรมบริการสุขภาพ และจัดแคมป์ให้เป็นแคมป์สุขภาวะอย่างแท้จริง โดยมีแพทย์หญิงดวงพร ปิณจีเสคิกุล รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร

นายแพทย์ไผท สิงห์คำ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและนายธนดณ ฉันทะธาดาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลลัพธ์ทางสังคมเชิงระบบ และผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย เข้าร่วมการประชุม
โอกาสนี้ นายแพทย์ไผท สิงห์คำ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง หรือ สปคม. ได้กล่าวแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ระบบสุขภาพเขตเมืองและการสร้างเมืองสุขภาพ” กล่าวว่า สปคม.ร่วมกับภาคีเครือข่ายทำงานดูแลด้านระบบสุขภาพเขตเมืองใน 4 ประเด็นหลักคือ 1. สร้างระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคสำหรับประชากรที่อยู่ในแคมป์แรงงานข้ามชาติให้สามารถเข้าถึงข้อมูลโรคระบาด หรือ โรคติดต่อต่างๆ ที่อยู่ในชุมชนแคมป์แรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือและควบคุมโรคต่างๆได้อย่างรวดเร็ว โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบบสุขภาพ เช่น สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร 2. การตรวจคัดกรองสุขภาพเชิงรุก โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้แรงงานเหล่านี้สามารถรับรู้สถานะทางสุขภาพของตนเอง เพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลและป้องกันตนเองได้ และสามารถเข้าสู่การรักษาได้อย่างรวดเร็ว 3. การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้แรงงานสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งรูปแบบภาษาไทยและภาษาของแรงงานข้ามชาติจะสามารถช่วยให้พวกเขาสามารถรับรู้ข้อมูลทางสุขภาพร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้
- เชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันผ่านการทำงานกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน และอาสาสมัครในชุมชนต่างๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดทั้งในกลุ่มคนไทยในประเทศและกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
ทั้งนี้ภายในงานมีการนำเสนอกิจกรรมโครงการ Building Social Impact (BSI) โดย มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก ร่วมกับ โครงการสนับสนุนนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานข้ามชาติในแคมป์พักก่อสร้าง สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อต่อยอดกรอบการดำเนินงาน Building Social Impact ซึ่งเป็นกรอบปฏิบัติการเพื่อยกระดับมาตรฐานทางสังคมในภาคการก่อสร้าง สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 ด้วยการสร้างสุขภาวะในแคมป์พักก่อสร้าง – มุ่งสู่การขับเคลื่อนเชิงระบบ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1.ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและเด็ก ผ่านต้นแบบ “แคมป์พักสุขภาวะ” 2.ผสานบริการสุขภาพเชิงรุก นวัตกรรมดิจิทัล และความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 3.สร้างกลไกนโยบายเมืองที่เชื่อมโยงมาตรฐาน BSI เข้ากับยุทธศาสตร์กรุงเทพฯ ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเมืองยั่งยืน(SDGs 3, 8 และ 11) พร้อมนำร่องและขยายผลสู่โครงการก่อสร้างภาครัฐ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการดำเนินงานบริษัทที่เข้าร่วมโครงการกว่า 21 บริษัท ซึ่งกรุงเทพมหานครในฐานะเมืองยั่งยืนและเมืองสิทธิมนุษยชน สามารถแสดงบทบาทเป็นผู้นำในการนำร่องภาคการก่อสร้างของภาครัฐ เพื่อเป็นต้นแบบระดับประเทศต่อไป