วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมูดำเหมยซานเกษตรพอเพียง ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามผลสำเร็จ

“โครงการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือด้วยนวัตกรรมบูรณาการเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน” โดยมี รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับใช้ นวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เพื่อรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ได้ให้ความสำคัญกับโครงการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือด้วยนวัตกรรมบูรณาการเชิงพื้นที่ จะเห็นได้ว่า ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและพะเยา

ซึ่งยังคงร่วมแก้ปัญหาการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในหลายพื้นที่ โดย วช.ได้สนับสนุนงานวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจนในการแก้ไขปัญหาโครงการวิจัยที่มุ่งลดการเผา และใช้นวัตกรรมนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างและเพิ่มรายได้ ด้วยการพัฒนาเครื่องมือ เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่นำไปใช้ได้จริงในชุมชน และยังตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมทั้งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน วช.เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือระหว่างนักวิจัย หน่วยงานรัฐ เอกชน และชุมชน คือหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการแก้ปัญหา วช. พร้อมสนับสนุนการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดผลกระทบจากฝุ่นพิษ และเสริมสร้างระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ หัวหน้าโครงการ และคณะ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า จากปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและพะเยา เกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในระดับสูง จนนำไปสู่การเกิดจุดความร้อน (Hotspot) และค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่อยู่ในระดับวิกฤตต่อเนื่องทุกปี ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง งานวิจัยจึงถูกนำมาใช้เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
โดยโครงการวิจัยนี้มุ่งลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะในแหล่งปลูกข้าวและข้าวโพด ผ่านแนวคิด “ลดเผา เพิ่มรายได้ แก้ปัญหาได้จริง” ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเตาเผาถ่านไบโอชาร์ประสิทธิภาพสูง และการแปรรูปวัสดุเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น น้ำส้มควันไม้ ปุ๋ยอินทรีย์ อิฐปลูกกล้วยไม้ และบรรจุภัณฑ์จากฟาง พร้อมสร้างแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่าย โครงการนี้ดำเนินงานแบบ Plug-in Solution ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ภาครัฐ เอกชน และชุมชนในพื้นที่ ตั้งเป้าลดการเผาในพื้นที่เป้าหมายไม่น้อยกว่า 50% ตั้งแต่ปีแรก พร้อมสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ทดแทน และลดจำนวนผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจ นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในระดับพื้นที่ และขยายผลสู่ภาคเหนือในระยะยาว
กิจกรรมในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังของ ววน. ที่นำงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ พร้อมสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน