วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมเปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2569 (NRCT Open House 2025) และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม “ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน
โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิจัย ตลอดจนผู้สนใจด้านการวิจัยและนวัตกรรมเข้าร่วม ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช.1

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การเตรียมความพร้อม ให้แก่ นักวิจัย ผู้บริหารและผู้ประสานงานของหน่วยวิจัย ในการเตรียมข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อขอรับทุนประจำปีงบประมาณ 2569 โดย วช. มุ่งมั่นการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมกับประชาคมวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนมุ่งเน้นการสนับสนุนให้เกิดการขยายเครือข่ายวิจัยในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการมุ่งเน้นจัดการปัญหาสภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว มลพิษอากาศ น้ำ ดิน ลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาระบบนิเวศ และทรัพยากรทั้งป่าไม้และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำกรอบแนวคิดการวิจัยและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เช่น มลพิษทางอากาศ PM2.5 และพลังงาน เป็นต้น การลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น แผ่นดินไหว และการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแก่ประเทศ
ภายในงาน ประกอบด้วยการเสวนา ประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- ประเด็นมุ่งเน้นภายใต้แผนงาน P15 โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา คณะกรรมการอำนวยการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม วช.
- ประเด็น “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” โดย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- ประเด็น “นิเวศมลพิษในภาคอุตสาหกรรม“ โดย ดร.ปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม
- ประเด็น “Zero Waste” และ “มลพิษอากาศและ PM2.5” โดย นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
- ประเด็น “พลังงาน” โดย นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- ประเด็นมุ่งเน้นภายใต้แผนงาน P16 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและเผยแพร่ผลการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ วช.
- ประเด็น “ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” โดย นางสาวดวงนภา อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดร.วีระชาติ วิเวกวิน นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กรมทรัพยากรธรณี และ ดร.ธนิต ใจสอาด ผู้อำนวยการสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง
- ประเด็น “การปรับตัวต่อความผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดย ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา และนางรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาแนวทางและศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยการเสวนาครั้งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ระบุเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ กลุ่มผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเขียนข้อเสนอให้ตรงจุด
จากนั้น ได้มีการนำเสนอวีดิทัศน์ “การแนะนำการใช้งานระบบ NRIIS” โดย กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และวีดิทัศน์ “แนะนำมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัย” โดย กองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมความเข้าใจในการยื่นข้อเสนอโครงการอีกด้วย
ถัดมา เป็นการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดย นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วม พร้อมตอบข้อซักถามและสะท้อนมุมมองจากประสบการณ์ตรงในการบริหารจัดการทุนวิจัย
ช่วงบ่าย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นต่าง ๆ
ดังนี้
- ประเด็นเรื่อง “ผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหวจากเมียนมาสู่ กทม. และบทบาทของ ววน.”โดย ศาสตราจารย์ ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนางสาวหรรษา อมาตยกุล ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมทาง 1 สำนักงานวิศวกรรมทาง สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร
- ประเด็นเรื่อง “เชื้อดื้อยาจัดการอย่างไร ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรกานติ์ บรรเจิดกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายวาทิน ถนอมนุช หัวหน้ากลุ่มงานโครงสร้างพื้นฐานและวิศวกรรมทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
- ประเด็นเรื่อง “ต้นตอปัญหาไฟป่าและกระบวนการจัดการความขัดแย้งด้วยพหุศาสตร์“ โดย อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายธงชัย นาราษฎร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ประเด็นเรื่อง “Upgrade การจ่ายน้ำชลประทานด้วยแพลตฟอร์มระบบปฏิบัติการส่งน้ำอัจฉริยะ” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนายประเสริฐ ล่ำภากร วิศวกรชลประทานชำนาญการ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว กรมชลประทาน ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดยนักวิจัยได้ร่วมกันให้แนวทางในการจัดทำข้อเสนอ ตลอดจนตอบข้อซักถามที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเสวนาในวันนี้
NRCT Open House 2025 เปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2569 พร้อมการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอด 9 วัน โดยการชี้แจงตลอดช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยในแต่ละมิติ ตลอดจนถ่ายทอดผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานวิจัยที่ผ่านมา ทั้งในด้านกรอบแนวคิด หลักเกณฑ์ และเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของการให้ทุนตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และซักถามประเด็นเชิงวิชาการและการปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพข้อเสนอการวิจัยในอนาคต