งดเหล้าเข้าพรรษาเริ่มแล้ว สสส. สานพลังเครือข่ายงดเหล้า ภาคีเครือข่ายสุขภาพ 6,050 องค์กรทั่วประเทศ รณรงค์งดเหล้า เข้าพรรษา ปี 68

0
40

ชูแนวคิด “มีสติ มีสุข ทุกโอกาส” ยก 9 โมเดลต้นแบบ จุดประกายสติเปลี่ยนชีวิตใน 3 เดือน เผยผลสำรวจปี 67 คนไทยร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา 13.1 ล้านคน บอกสุขภาพดีขึ้น 48.6% ประหยัดเงิน 40.5% ประหยัดเงินกว่า 1 หมื่นล้าน ไทยยังเจ๋ง!! เทียบรณรงค์งดเหล้ากับหลายประเทศ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 ก.ค. 2568 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าวโครงการฤดูกาลฝึกสติ และรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2568 ภายใต้แนวคิด “มีสติ มีสุข ทุกโอกาส” โดยความร่วมมือกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เสริมพลังสติผู้ดื่มให้เบรกตัวเองอย่างน้อยเข้าพรรษาในท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผลประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2567 โดยศูนย์วิจัย SAB พบคนไทยร่วมงดเหล้า 13,154,239 คน เป็นผู้ที่งดตลอดพรรษา 7,646,408 คน (58.1%) งดเป็นบางช่วง 2,681,000 คน (20.4%) และ ไม่งดแต่ลดการดื่มลง 2,826,831 คน (21.5) โดยกลุ่มตัวอย่าง 73% ระบุว่าได้รับผลดีอย่างน้อย 1 อย่าง จากการลด ละ เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา

ทั้งนี้ ตัวอย่างที่ได้รับผลดี ระบุส่งผลดีด้านสุขภาพกาย 48.6% ประหยัดค่าใช้จ่าย 40.5% และสุขภาพจิตดีขึ้น 31.4% รวมประหยัดเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่ง หรือ 58.4% มีความตั้งใจว่าในปีนี้จะลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ออีกปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในระยะยาว จากงานวิจัยของนพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว และคณะ ได้วิเคราะห์ในระดับประชากร โดยเปรียบเทียบยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงก่อนรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2546 กับหลังจากมีการรณรงค์ในช่วง 3 เดือน พบว่า การรณรงค์ทำให้การดื่มของคนไทยลดลงในช่วง 3 เดือน ถึง 9.97%


“ขณะนี้มีการรณรงค์ในลักษณะงดดื่มชั่วคราวในหลายประเทศในยุโรป ซึ่งกำหนดงดดื่มเป็นเวลา 1 เดือน เช่น อังกฤษ รณรงค์ในช่วง ม.ค. ในชื่อ Dry January หรือในออสเตรเลีย รณรงค์ในช่วง ก.ค. ในชื่อ Dry July แต่ของไทยใช้โอกาสวันสำคัญตามพระพุทธศาสนาวิถีพุทธ กำหนดงดดื่ม 3 เดือน ทั้งนี้ ผลการรณรงค์แบบชั่วคราวสะท้อนให้เห็นว่าส่งผลต่อสุขภาพกาย ใจ และช่วยประหยัดเงินได้ชัดเจน สสส. จึงได้ขยายการรณรงค์ ให้งดดื่มต่อเนื่องในทุกเทศกาล ทุกศาสนาสามารถร่วมงดดื่มเพื่อสุขภาพของตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อคนที่คุณรักได้” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

ด้าน นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษานี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่การก่อตั้ง สสส. กว่า 22 ปี โดยในปีนี้มีความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะด้านปัญหาเศรษฐกิจ และนโยบายรัฐบาล เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยว มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางสถานที่ บางเวลา และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สุราจากชุมชน อาจส่งผลให้แนวโน้มการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น สสส. จึงต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการรณรงค์ภายใต้แคมเปญ “งดเหล้าเข้าพรรษา ชวนกันมาตั้งสติ” ถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างพลังสติเบรกตัวเอง เตือนตัวเองให้ลดละเลิกดื่ม ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และส่งเสริมวัฒนธรรมงดเหล้าในทุกระดับ ตั้งแต่ชุมชน สถานศึกษา หน่วยงานรัฐ และประชาชนทั่วไป จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างพัฒนาการทางเศรษฐกิจ กับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน

“สสส. ยังมีการให้คำปรึกษาการดื่มสุรา โทร 1413 โดยเฉพาะคนรอบข้างที่ได้รับผลกระทบจากคนดื่ม เป็นการโทรปรึกษาฟรีหรือปรึกษาออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.1413.in.th หรือทาง Chatbot น้องตั้งใจ Line@1413สายด่วนเลิกเหล้า และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการลงนามงดเหล้าเข้าพรรษาปฏิญาณตนออนไลน์ https://noalcohol.ddc.moph.go.th/ โดยขอให้ทุกหน่วยงานราชการได้ร่วมรณรงค์ทั่วประเทศ” นายวิเชษฐ์ กล่าว

นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวว่า ปีนี้มีภาคีความร่วมมือรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่ม 6,050 แห่ง ได้แก่ 1.สถานศึกษา 2,500 แห่ง มีกิจกรรม “โพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า” นักเรียนเขียนจดหมายเชิญชวนพ่อแม่ลดละเลิกการดื่ม 2.ชุมชน 1,178 แห่ง มีกระบวนการ “5 ช.” คือ ชวน ช่วย ชม เชียร์ เชิดชู พร้อมยกย่องผู้ที่สามารถงดเหล้าได้ตลอดพรรษาเป็น “คนหัวใจหิน หัวใจเหล็ก และหัวใจเพชร” 3.อำเภอ 150 แห่ง นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. รณรงค์ชวนประชาชนร่วมปฏิญาณตนงดเหล้า 4.องค์กร 2,222 แห่ง ผ่านระบบลงทะเบียนออนไลน์ร่วมกิจกรรมและรับใบประกาศเกียรติคุณ เช่น ธ.ก.ส., กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, เทศบาล, ที่ว่าการอำเภอ, โรงเรียน และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่

ทั้งนี้ ภายในงานมีการบรรยายแนวคิด “สติ” ในฐานะเครื่องมือสำคัญของการดำเนินชีวิตอย่างรอบคอบ ไม่ประมาท และเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนนายสรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาสา และมีตัวแทน 9 โมเดลพื้นที่ต้นแบบ ที่ร่วมขับเคลื่อนสังคมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ พระครู สุมณฑ์ธรรมธาดา เจ้าคณะตำบลและเจ้าอาวาสคลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย (เครือข่ายสังฆเพื่อสังคม) นายมานพ จินาไหม ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร ธ.ก.ส. (ภาคีรัฐวิสาหกิจ) นายทศพล จักรบุญมา นายอำเภอวังเหนือ จ.ลำปาง (ภาคีนายอำเภอ),นายยุทธ บุญเกษ รองนายกฯ เทศบาล เมืองวังสะพุง จ.เลย (ภาคีปกครองท้องถิ่น) พ.ต.ท.ประเสริฐ ฟุ้งพิมาย รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรพิมาย จ.นครราชสีมา (ภาคีตำรวจ) นางวนิดา บุญมั่น ผู้อำนวยการ รร.วัดสระแก้ว จ.นครศรีธรรมราช (เครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน) นายวินัยศักดิ์ เหมืองทอง ผู้จัดการโครงการ SHAP กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(ภาคีสถานประกอบการ) นายอภิสิทธิ์ ภูชัยแสง ผู้ใหญ่บ้านโคกเครือ ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ (ภาคีผู้ใหญ่บ้าน) และนางปิยะนาฎ ใหม่นา ชมรมคนหัวใจเพชร ชุมชนบ้านตุ่นใต้ อ.เมือง จ.พะเยา(เครือข่ายชุมชน)