วันนี้ (24 กรกฎาคม 2568) นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.นายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ลงนามสัญญาการแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน (Data Sharing Agreement) เพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อมูลประมาณการการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา ให้มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย

โดยฉพาะการควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพ โดยมีนายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทระดับสูง ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และผู้บริหารเจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมอาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ เปิดเผยว่า เชื้อดื้อยา เป็นหนึ่งในภัยเงียบที่ท้าทายระบบสาธารณสุขทั่วโลก และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากปราศจากมาตรการรับมืออย่างจริงจัง รายงานจากหลายประเทศชี้ว่า เชื้อดื้อยาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลายล้านรายทั่วโลกในแต่ละปี และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล
รวมถึงความเชื่อมั่นในระบบสุขภาพของประเทศ ประเทศไทยเองได้บรรจุปัญหาเชื้อดื้อยาไว้ในวาระด้านความมั่นคงทางสุขภาพ และได้จัดทำนโยบายแห่งชาติและแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในการควบคุมเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพมาอย่างต่อเนื่อง การที่จะดำเนินการเชิงนโยบายให้ได้ผล จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ครบถ้วน และเชื่อมโยงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง ตั้งแต่ข้อมูลจากโรงพยาบาล ห้องปฏิบัติการ ระบบทะเบียนราษฎร ไปจนถึงข้อมูลระบาดวิทยา

นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับระบบข้อมูลการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในประเทศไทย เริ่มต้นโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลการตรวจเชื้อดื้อยาจากโรงพยาบาล เพื่อจัดทำแบบแผนความไวต่อยาและแนวโน้มการดื้อยาให้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ ต่อมาได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเชื้อดื้อยาทางห้องปฏิบัติการ Antimicrobial Resistance Laboratory Information Surveillance System (ALISS)
เพื่อพัฒนามาตรฐานในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชื้อดื้อยาอย่างเป็นระบบ สามารถจัดทำแนวโน้มเชื้อดื้อยาระดับเขตสุขภาพและระดับประเทศ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายในการควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม ตลอดจนเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลขององค์การอนามัยโลก เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาระดับโลกต่อไป
การลงนามในวันนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกลไกความร่วมมือที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการสร้างระบบแบ่งปันข้อมูลที่มีมาตรฐานทางวิชาการ คำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ เช่น การเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนรายงานต่อองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก หรือองค์การสหประชาชาติ