แพทย์เตือนไข้หวัดใหญ่กำลังมา ย้ำกลุ่มเสี่ยงเร่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ลดความเสี่ยง Flurona พร้อมลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ถึง 10% 

0
1250

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทั่วโลกประกาศใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจทั้งหมดลดลง ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่, โรค RSV เชื้อไวรัสในเด็กเล็ก เนื่องจากมีการสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง ช่วงปี พศ. 2563 – 2564 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกลดลง ประมาณ 70-80 เท่า แต่เมื่อไรก็ตามที่นโยบายถอดหน้ากากอนามัยปฎิบัติมากขึ้น โรคไข้หวัดใหญ่ก็จะกลับมาอีก

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า “สิ่งที่น่าวิตกกังวล คือ ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มมีสัญญาณการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ให้เห็น อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกาใต้ จีน และอินเดีย เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 มีการเปิดประเทศกันมากขึ้น เกิดการรวมกลุ่มกันมากขึ้น อีกทั้งประชาชนเริ่มมีวินัยลดลง ขณะที่ในทวีปยุโรป อย่างประเทศเดนมาร์ก ได้ออกประกาศยกเลิกมาตรการป้องกันโควิดเกือบทั้งหมด ไม่มีการกักตัว ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย โดยปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้เริ่มมีปรากฎการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ยังคงมีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกาใต้ จึงเริ่มมีรายงานจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้น บวกกับอยู่ในช่วงฤดูหนาว มีอากาศเย็น เชื้อโรคจึงแพร่กระจายได้มากขึ้นและมีชีวิตอยู่นานขึ้น” 

และในช่วงต้นมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ประเทศอิสราเอลได้ตรวจพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อร่วมกันระหว่างไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ในเวลาเดียวกันเรียกว่า ‘ฟลูโรนา’ (Flurona) นอกจากนี้ ยังพบผู้ที่ติดเชื้อร่วมกันได้แพร่กระจายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ตามหลักทางการแพทย์นั้นการติดเชื้อร่วมกันมีความเป็นไปได้ และย่อมก่อให้เกิดอาการรุนแรงกว่า เสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาล และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว ยิ่งไปกว่านั้นอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก แพทย์ต้องมีการซักถามประวัติเพื่อแยกโรค และหากจะให้ทราบผลอย่างชัดเจนต้องตรวจโควิด-19 และเชื้อไข้หวัดใหญ่ทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานสากล 

 

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กล่าวถึงแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร่วมกัน (Flurona) โดยแนะให้ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พร้อมแนะประชาชนสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนทั้งไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19 ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเสมือนเป็นเสื้อเกราะต่อทั้ง 2 โรค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงของทั้ง 2 โรค คือ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคปอด และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ทั้งนี้ เพื่อลดความวิตกกังวลของอาการที่คล้ายกันกับโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน และลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อร่วมกันของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 (Flurona) นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยต่างประเทศหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา และบราซิล ยังระบุว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึงร้อยละ 10 ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากร่างกายถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทำให้มีภูมิคุ้มกันของร่างกายชนิดไม่จำเพาะต่อเชื้อใดๆ ก็ตามทำงานไปด้วย

สำหรับทางการแพทย์ไทยนั้น ยังมีความเป็นห่วงเรื่องการระบาดของโควิด-19 โอไมครอนสายพันธุ์เดิม และโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ถือเป็นช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในประเทศเขตร้อนต่างๆ ที่สำคัญยังตรงกับช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอม อาจทำให้มีเด็กนักเรียน รวมถึงประชาชนทั่วไป มีโอกาสติดเชื้อทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ร่วมกันได้ เนื่องจากสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรกนั้น กรมควบคุมโรคมีรายงานว่าในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2562 – 7 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศ จำนวน 390,773 ราย และเสียชีวิต 27 ราย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะอยู่ในกลุ่มเด็กอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ เด็กอายุ 5-9 ปี ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทั้งนี้การควบคุมดูแลโรคไข้หวัดใหญ่ทำได้ง่ายกว่า และป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้การรับรองจากทั่วโลกและใช้มายาวนานถึง 80 ปี สามารถป้องกันได้ทุกช่วงวัย เริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป

นอกจากนี้ ทางคณะแพทย์ที่ดำเนินงานด้านฝึกอบรมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ต่อบุคลากรทางการแพทย์เป็นเวลาหลายปี พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ ประมาณหลายพันคนก่อนปีที่มีการระบาดของโควิด-19 พบว่าภาพรวมของบุคลากรทางการแพทย์ให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สูงถึงร้อยละ 90 พร้อมตอบแบบสอบถามเปรียบเทียบกับปีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ว่าปีที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงโรคทางเดินหายใจอื่นๆ  โดยร้อยละ 70 ตอบว่ารู้สึกดีขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง ส่วนร้อยละ 20 รู้สึกเฉยๆ และอีกร้อยละ 10 ตอบว่ารู้สึกแย่ลงเล็กน้อย โดยภาพรวมถือว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิผลเป็นที่น่าพึงพอใจในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อหลายปีที่แล้ว 

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดเป็นประจำทุกปีและล่าสุดศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) และในอีกหลายๆ ประเทศ รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประกาศถึงแนวทางการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี ว่าสามารถฉีดร่วมกับวัคซีนโควิด-19 ในวันเดียวได้  โดยหากใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและยังไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ปีที่แล้ว ขอให้รีบรับวัคซีนให้เร็วที่สุด สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในฤดูกาลปี 2565 หรือที่เรียกว่า ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซีกโลกใต้ 2022’ จะมีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์ และชนิด 4 สายพันธุ์ ซึ่งประชาชนสามารถรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ได้ที่โรงพยาบาลเอกชนทั่วไป ซึ่งจะเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนมีนาคม จนถึงสิ้นปี 2565 ขณะที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ของภาครัฐบาล คาดว่าเริ่มประมาณเดือนพฤษภาคม รับบริการฉีดฟรีได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลในระบบบัตรทอง (ทั่วประเทศ) 

ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย https://www.pidst.or.th/