“สมาคมธนาคารไทย” เดินหน้าช่วยลูกค้าทุกกลุ่ม ยกระดับแผน BCP แนะลูกค้าทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

0
1392

        ​สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก เดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ช่วงเดือนกรกฎาคม  2563 มีลูกค้าสินเชื่อขนาดใหญ่  SME และรายย่อย ขอรับความช่วยเหลือสูงสุด 6 ล้านบัญชี วงเงิน 4.25 ล้านล้านบาท เผยที่ผ่านมา มีลูกค้าบางส่วนออกจากมาตรการเนื่องจากกลับมาชำระหนี้ได้ ล่าสุดมีลูกค้าอยู่ภายใต้การให้ความช่วยเหลือ 1.89 ล้านบัญชี วงเงินรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท  ยกระดับแผน BCP  รับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด แนะทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ลดความเสี่ยงการระบาด 

นายผยง  ศรีวณิช  ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ธนาคารสมาชิกได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในเดือนกรกฏาคม  2563 มีลูกค้าขอรับความช่วยเหลือสูงสุดจำนวน 6 ล้านบัญชี วงเงินความช่วยเหลือรวม 4.25 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 8 แสนล้านบาท ลูกค้า SME 1.8 ล้านล้านบาท และลูกค้ารายย่อย 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา มีลูกค้าบางส่วนได้ออกจากมาตรการเนื่องจากกลับมาชำระหนี้ได้ในช่วงที่สถานการณ์ดีขึ้น ล่าสุด ยังมีลูกค้าอยู่ภายใต้การให้ความช่วยเหลือรวม 1.89 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือกว่า 2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ 5.6 แสนล้านบาท ลูกค้า SME 8.2 แสนล้านบาท และลูกค้ารายย่อย 6.2 แสนล้านบาท สำหรับมาตรการเสริมสภาพคล่อง เพื่อประคับประคองธุรกิจตามมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารสมาชิกได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อเสริมสภาพคล่องกว่า 2.16 แสนล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ประมาณ 1.38 แสนล้านบาท และวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจที่อนุมัติไปแล้วกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้าหมาย 1 แสนล้านบาทในเดือนตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ทุกธนาคารยังคงเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ โดยจะทยอยพิจารณาให้การช่วยเหลือผ่านวงเงินดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบต่อลูกค้าทุกกลุ่ม โดยพร้อมมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติม หากสถานการณ์ยืดเยื้อกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม   ภาคธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 โดยในช่วงแรกออกมาตรการช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นมาตรการเร่งด่วน ทั้งการพักชำระเงินต้น ดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้  เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้า เสริมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ  (Soft Loan)  หลังจากนั้นได้ออกมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือลูกค้าให้ตรงจุด เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และเมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ทำให้เศรษฐกิจต้องใช้เวลานานขึ้นในการฟื้นตัว จึงมีมาตรการฟื้นฟูธุรกิจเพิ่มเติม ประกอบด้วย สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ วงเงิน 250,000 ล้านบาท และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท  พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย ระยะที่ 3 และล่าสุดได้ออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เป็นระยะเวลา 2 เดือน  ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการ ในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ

“ ทั้งนี้ ธนาคารสมาชิกได้บริหารจัดการธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าภาพรวมผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งปี 2564 แสดงผลการดำเนินงานที่ยังเติบโตต่อเนื่อง  แต่บางส่วนเป็นการบันทึกรายได้ดอกเบี้ยค้างรับของมาตรการช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งยังไม่ได้มีการชำระจริงและยังอาจกลายเป็นหนี้เสียได้  อย่างไรก็ตาม ภาพรวม  NPL ในระบบแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย สะท้อนถึงการให้ความช่วยเหลือได้ทันการณ์ ซึ่งนอกจากการให้สินเชื่อผ่าน Soft Loan และสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ตามวงเงินที่มีอยู่เดิมเพิ่มขึ้น และยังคงให้ความสำคัญกับการกันสำรองอย่างเข้มงวดต่อไป เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต และต้องไม่เกิดผลกระทบกับเสถียรภาพและระบบสถาบันการเงินของประเทศ”

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้น สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกยังได้ยกระดับแผน Business Continuity Planning หรือ BCP เพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการ โดยคำนึงความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานเป็นสำคัญ ทั้งนี้ แผน BCP ครอบคลุมทั้งการปฎิบัติตามมาตรการของทางการ ระบบการให้บริการ การจัดสรรพนักงาน และการสำรองเงินสดให้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ลูกค้าทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์  ทั้ง Mobile Application  Internet Banking และ  ตู้ ATM ซึ่งสามารถทำธุรกรรมได้หลากหลาย ทั้งฝาก-ถอนเงินสด โอนเงิน จ่ายบิล การยืนยันตัวตน รวมถึงบริการผูกบัญชีพร้อมเพย์  โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สาขา เพื่อความสะดวก และลดความเสี่ยง

ทั้งนี้ ได้ติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิด ได้มีการปฏิบัติงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home  ขั้นสูงสุด ส่วนพนักงานที่ต้องปฏิบัติงานในสาขา ซึ่งถือว่าเป็นบุคลากรด่านหน้าและเป็นกลุ่มเสี่ยง ธนาคารสมาชิกก็พยายามเร่งจัดหาวัคซีนและกระจายฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด พร้อมจัดการระบบให้บริการที่สาขาให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุข

นอกจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าแล้ว   สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ยังสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อ ในปี 2563 โดยบริจาคให้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร และสภากาชาดไทย จำนวนเงิน 50 ล้านบาท สำหรับในปี 2564 ธนาคารสมาชิกยังคงสนับสนุนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนทุนทรัพย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ขณะเดียวกัน ยังเป็นกำลังสำคัญร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุน  โครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย” ซึ่งเป็นการผนึกความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างภาครัฐและเครือข่ายภาคีเอกชน ในการเร่งกระจายวัคซีนให้กับประชาชน โดยสนับสนุนศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลในโครงการไทยร่วมใจฯ 25 แห่ง ศูนย์ฉีดวัคซีนสำนักงานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน ม.33 อีก 69 แห่ง รวมถึงจุดบริการฉีดวัคซีนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุด โดยธนาคารสมาชิกได้ให้การสนับสนุนทั้งด้านสถานที่ บุคลากร และจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือในการดำเนินงานอีกด้วย