ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์

0
1016

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปิดตลาด -0.08% หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงและยังคงรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการปรับนโยบายของเฟดได้ หลังจากในช่วงที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดต่างคาดการณ์ว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ท่ามกลางรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ทยอยออกมาแย่ลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil -4.2%, Chevron -2.7%) ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -3% ของราคาน้ำมันดิบจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งผู้เล่นในตลาดกังวลกับภาพดังกล่าวมากขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 1.75% พร้อมออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจอังกฤษอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยนานกว่า 5 ไตรมาสนับตั้งแต่สิ้นปีนี้

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงเดินหน้าปรับตัวขึ้นราว +0.18% แม้ว่าตลาดโดยรวมจะถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Equinor -2.9%, BP -0.7%) รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ แต่ตลาดยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาดช่วยพยุงตลาดโดยรวมไว้

ทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยได้กลับมาหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 2.69% อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเคลื่อนไหวในกรอบในระยะสั้นไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงมองแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ซึ่งคาดว่าผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินเฟด

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 105.7 จุด กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากขึ้น หลังจากที่ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.6 แสนราย แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ อนึ่ง การปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในจังหวะที่ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอยมากขึ้น ได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,807 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านดังกล่าวของราคาทองคำ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกรกฎาคม อาจเพิ่มขึ้น 2.5 แสนราย และยังไม่ได้สะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างที่ตลาดกังวล ทั้งนี้ เรามองว่า ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ แม้จะยังแข็งแกร่ง แต่ก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้เราประเมินว่า หากเงินเฟ้อรวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลางไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมาก เฟดก็ไม่ได้จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง อย่างไรก็ดี ต้องระมัดระวังความผันผวนในตลาดที่อาจเกิดขึ้น หาก ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 แสนราย และค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง (Average Hourly Earnings) ยังคงปรับตัวขึ้นในอัตราเร่งมากกว่า 5%y/y เนื่องจากภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งกว่าคาดดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดยังมีโอกาสเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้

ส่วนในฝั่งไทย เรามองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนกรกฎาคม อาจอยู่ที่ระดับ 7.7% (ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า -0.05%) เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง จะช่วยลดผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ อาทิ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งหากเงินเฟ้อไม่ได้เร่งขึ้นสูงไปมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดลดความคาดหวังต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยมากขึ้นและอาจรอจังหวะเข้ามาซื้อบอนด์ระยะกลางถึงยาวเพิ่มเติมได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways หรือ แข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังจากที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (และแข็งค่ามากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ แรงขายทำกำไรทองคำ รวมถึงความหวังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากต่างชาติในไทย ซึ่งทั้งสามปัจจัยดังกล่าวยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดค่าเงินอาจมีความผันผวนสูงขึ้นได้ในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งต้องระวังในกรณีที่ ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก ทำให้ตลาดกลับมากังวลโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจทำให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้

ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทหลุดระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจหนุนให้ผู้นำเข้าบางส่วน โดยเฉพาะในฝั่งบริษัทพลังงาน อาจใช้จังหวะที่ราคาสินค้าพลังงานปรับตัวลดลงในการทยอยซื้อเงินดอลลาร์ กอปรกับผู้เล่นบางส่วนที่เข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงก่อนหน้าอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรบ้าง ทำให้เงินบาทอาจมีแนวรับใหม่ในโซน 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนราคา 36.20 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นโซนแนวต้านใหม่ของเงินบาทในช่วงนี้ ซึ่งเราเริ่มเห็นผู้ส่งออกต่างรอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าวพอสมควร

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-36.00 บาท/ดอลลาร์