ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.64 บาทต่อดอลลาร์  “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.27 บาทต่อดอลลาร์

0
1097

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อย่างรวดเร็ว หลังจากที่รายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาหมวดอาหารและพลังงาน ของเดือนสิงหาคม ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 6.3% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สร้างความกังวลให้กับผู้เล่นในตลาดว่า เฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่องเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ (ล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 33% ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง +1.00% ในการประชุมเดือนกันยายน) ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์รุนแรง โดยเฉพาะ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Meta -9.4%, Amazon -7.1%, Apple -5.9% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -5.16% เช่นเดียวกับ ดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวลดลงถึง -4.32%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ก็ปรับตัวลงแรงกว่า -1.55% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ นำโดย Adyen -8.0%, ASML -4.1% ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นบ้างของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Equinor +1.6% หลังราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับตัวลงรุนแรงเหมือนกับสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ (ราคาน้ำมันดิบ WTI เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 87-88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มประเมินโอกาสเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง และมองว่าจุดสูงสุดของดอกเบี้ยเฟด (Terminal Rate) อาจสูงถึง 4.25%-4.50% ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ระยะสั้น อย่าง บอนด์ยีลด์ 2 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.77% ส่วนบอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี ก็ปรับตัวขึ้นต่อใกล้ระดับ 3.45% อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า แม้ตลาดจะมองว่าเฟดอาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทว่า ผู้เล่นบางส่วนกลับมองว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า ทำให้ยังคงมีผู้เล่นส่วนหนึ่งทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3.50% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ไปได้หรือไม่ เพราะหากปรับตัวขึ้นทะลุระดับดังกล่าว อาจส่งผลให้ ตลาดบอนด์ยังคงเผชิญความผันผวนในระยะสั้น จากการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) พุ่งขึ้นสู่ระดับ 109.85 จุด จากที่อ่อนค่าลงสู่ระดับ 107.8 จุด ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยแรงหนุนของเงินดอลลาร์นั้นมาจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงอย่างรุนแรงของตลาดยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อยู่ อนึ่ง การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กลับมากดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงกว่า -1.4% สู่ระดับ 1,712 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นแรงซื้อของผู้เล่นบางส่วนกลับเข้ามา ทำให้ราคาทองคำยังสามารถทรงตัวเหนือระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากมุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่อยากถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหนักหรือถดถอยในปีหน้า

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตารายงานเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ โดยตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ในเดือนสิงหาคมจะเร่งขึ้นแตะระดับ 10.2% และอาจยิ่งหนุนให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย +0.50% ในการประชุมเดือนกันยายน เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ แม้ว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจะเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ปัญหาเงินเฟ้อสูงที่ส่งผลให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและกดดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอังกฤษดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1980 จะกดดันให้ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม หดตัวกว่า -0.5%m/m

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวผันผวนในฝั่งอ่อนค่าลงได้บ้าง ตามการกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินดอลลาร์ (เงินบาทผันผวนหนักในช่วงตลาดรับรู้รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ จริงตามคาด โดยเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าจากระดับ 36.20 บาทต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 36.54 บาทต่อดอลลาร์) นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด อาจกลับมากดดันให้ นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยออกมาได้บ้าง ซึ่งต้องจับตาแรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติว่าจะรุนแรงขนาดไหน อย่างไรก็ดี เรามองว่า แรงขายหุ้นไทยโดยนักลงทุนต่างชาติอาจไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากสัดส่วนใหญ่ของตลาดหุ้นไทย คือ หุ้นกลุ่ม Old Economy ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ยหรือบอนด์ยีลด์ น้อยกว่า หุ้นกลุ่ม Tech ที่มีน้ำหนักมากในตลาดหุ้นสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เรามองว่า หากผู้เล่นในตลาดบอนด์ยังคงมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็อาจทำให้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี (ที่อาจเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ) เป็นไปอย่างจำกัด เพราะผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะทยอยซื้อในช่วงบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งเรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะดังกล่าวเช่นกัน ทำให้โดยรวมฟันด์โฟลว์อาจไม่ได้ไหลออกจากตลาดทุนไทยรุนแรง แม้ว่าตลาดจะกลับมากังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง

ทั้งนี้ อีกตัวแปรที่ต้องจับตา คือ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะราคาย่อตัว ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในระยะสั้นได้ แต่หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ก็จะสามารถช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน (Correlation เงินบาทกับราคาทองคำ สูงกว่า 72%) อนึ่ง การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเผชิญแนวต้านในช่วง 36.75-36.80 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้ส่งออกจำนวนมากอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับในระยะนี้จะยังคงอยู่ในช่วง 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.80 บาท/ดอลลาร์